สสส.-เครือข่ายงดเหล้า ลงพื้นที่ต้นแบบงดเหล้า จ.เพชรบุรี ชูกระบวนการ ชวน ช่วย เชียร์ เกิด “เลิกเหล้า เลิกจน” ต่อยอดลดรายจ่าย สร้างรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจครอบครัวสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

0
353

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่ ศูนย์การศึกษานอกระบบ หมู่บ้านโพธิ์ด้วน ต.ต้นมะม่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายงดเหล้า นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานต้นแบบขับเคลื่อนงานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาจากกระบวนการ ชวน ช่วย เชียร์ ของเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศไทย คณะทำงานประชาคมงดเหล้า จ.เพชรบุรี สู่การต่อยอด“เลิกเหล้า เลิกจน” ลดรายจ่าย สร้างรายได้ฟื้นเศรษฐกิจครอบครัว น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนรณรงค์ “ลดเหล้า ลดรายจ่าย”เป็นการสร้างความตระหนักในการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ชุมชน สังคม จัดการสิ่งแวดล้อมปลอดเหล้า บุหรี่ พนัน ลดปัจจัยเสี่ยง ส่งผลดีต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างสังคมสุขภาพดี มีความสุขมากขึ้น เศรษฐกิจระดับประเทศดีขึ้นต่อไป

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.

“กระบวนการ ชวน ช่วย ชม เชียร์ นอกจากจะช่วยออมเงินค่าเหล้าแล้ว สคล. และคณะทำงานสร้างกิจกรรมสนับสนุนการเข้าถึงศักยภาพ และฟื้นฟูอาชีพเดิม เพิ่มอาชีพเสริมสร้างรายได้เพิ่มเติม ในระยะสั้น และในระยะยาว พัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งตนเองได้ และการรณรงค์ให้เกิดคนหัวใจหิน หัวใจเหล็ก และหัวใจเพชร เพิ่มขึ้นเพื่อลดเงินไหลออก จึงเป็นการสร้างต้นทุนที่ดีทั้งด้านสุขภาพ จิตใจ ปัญญา ให้บุคคลพร้อมสำหรับการพัฒนาทักษะความสามารถ และพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว เห็นผลเป็นรูปธรรม ถือเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

ร.ต.ต.กนกศักดิ์ มุทธากาญจน์ นายก อบต.ต้นมะม่วง จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลมีจำนวนมาก โดยเกิดจากเมาแล้วขับ การทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุลดการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนคุ้มครองเด็ก และเยาวชนได้ ได้นำร่องสถานที่ราชการปลอดเหล้า และเชื่อมโครงการต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นนโยบาย และแนวทางการทำงาน ร่วมกับประชาคมเครือข่ายงดเหล้า จ.เพชรบุรี โดยแกนนำพลังหญิงหัวใจเพชรร่วมขับเคลื่อนงาน ชวน ช่วย เชียร์ ในพื้นที่ ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มต่างๆ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน โดยเฉพาะ “งดเหล้า ลดรายจ่าย” พร้อม ๆ สร้างงาน สร้างอาชีพ ทางอบต. พร้อมที่จะสนับสนุน ในการเชื่อมประสานเครือข่ายให้เกิดชุมชนปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนในชุมชน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

             นางนงค์นุช ขำขม แกนชุมชนตำบลต้นมะม่วง จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ตนเองเป็นแพทย์ประจำตำบล และเป็น อสม. ด้วย ได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานของประชาคมเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ปี 2561 และร่วมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และงานบุญประเพณีต่าง ๆ ที่สนับสนุนโดย อบต.บ้านต้นมะม่วง โดยตั้งเป็นกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร ขับเคลื่อนงานรณรงค์งดเหล้าผ่านกระบวนการ “ชวน ช่วย ชม เชียร์” โดยเตรียมออกแบบการทำงานแบ่งบทบาทหน้าที่ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่สำรวจชุมชน เพื่อหาข้อมูล ชวนเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม มีการลงเยี่ยม ชุมชน หนุนเสริม พบปะ พูดคุย ติดตาม ให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมจำนวน 22 คน สามารถงดเหล้าได้ครบพรรษา 3 เดือน และตั้งใจเลิกตลอดชีวิต 2 คน

“การทำงานต้องวางแผนเป็นระบบ เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ มีอาสาสมัครกระจายตัวในพื้นที่ 1 คน รับผิดชอบ 1 ครัวเรือน ทั้งนี้มีครู กศน. กลุ่มงานคุมประพฤติ มาร่วมขับเคลื่อนงานงดเหล้า เชิญชวนกลุ่มนักศึกษาเป็นนักรณรงค์ชักชวนร้านค้าในชุมชนให้ปฏิบัติตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากชวนคนให้งดเหล้าเข้าพรรษา ยังชวนหยอดกระปุกออมเงินค่าเหล้าแล้ว และตั้งกลุ่มกันสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อเป็นการ “ลดรายจ่าย สร้างรายได้” เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชนเพิ่มขึ้น”  นางนงค์นุช กล่าว

นายภานุพงศ์ อยู่ยั่งยืน อายุ 56 ปี คนต้นแบบ ตำบลต้นมะม่วง จ.เพชรบุรี กล่าวว่า เริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 18 ปี จนอายุ 51 ปี พอมีครอบครัวก็ยังดื่มทุกวัน คิดว่าร่างกายไหว ดื่มเบียร์ครั้งละ 5-6 ขวด เหล้าวันละ 1 ขวด คิดเป็นเงินวันละ 300 บาทเป็นอย่างต่ำ ดื่มแล้วก็เมา เมาแล้วก็ขับรถมอเตอร์ไซค์ล้ม เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ได้รับบาดเจ็บถึงจะไม่รุนแรง แต่ก็ทำให้ครอบครัวทุกข์ใจ ลูกสาวขอให้เลิกกิน จึงรับปากลูก และไม่อยากให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ เมื่อ 5 ปีที่แล้วทาง สคล. จ.เพชรบุรี ร่วมกับแกนนำในชุมชน รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาจึงตั้งใจเข้าร่วม ช่วงที่ยากที่สุด คือ 3-4 เดือนแรก รู้สึกกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ร่างกายอ่อนแอ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ แต่ครอบครัวคอยให้กำลังใจ  สคล. จ.เพชรบุรี มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจตลอด ช่วยแนะนำ เชียร์ให้สามารถเลิกได้จนถึงทุกวันนี้ ตอนหยุดดื่มเหล้าได้แล้ว ออมเงินหยอดกระปุกทุกวัน ในช่วงเข้าพรรษาออมเงินได้กว่า 20,000 บาท สามารถนำเงินไปต่อเติมบ้าน ทำในสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าการนำเงินไปซื้อแอลกอฮอล์ ทำให้มีแรงจูงใจงดดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป หลังจากเลิกดื่มแอลกอฮอล์สุขภาพดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข รู้สึกภูมิใจในตัวเอง การเลิกดื่มส่งผลให้เพื่อน ญาติ สังคมเกิดการยอมรับ