เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ที่สยามสเคป สยามสแควร์ กรุงเทพฯ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 6 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีปิดโครงการพัฒนารูปแบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ “HealthTecH X สุขล้ำไม่เหลื่อมล้ำ” ว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนให้มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ร่วมกับ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด (SYNHUB) พัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพโดยใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ แอปพลิเคชัน AI อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoTs) Big Data เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน คนพิการ
“นวัตกรรมสุขภาพของโครงการ HealthTecH X ทั้ง 23 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือก ได้รับการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานได้จริง และโอกาสต่อยอดขยายผลทำธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ จากนักลงทุน หน่วยงาน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจจะให้การสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ได้เข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพ ได้รับความสะดวก นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สิ่งสำคัญของโครงการคือ การที่นวัตกร นักพัฒนา X-Innovator ทุกคน จะไม่หยุดพัฒนาตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคมต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า สสส. มีพันธกิจสำคัญในการกระจายโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็ง สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 “กลุ่มคนรุ่นใหม่” เป็นกำลังสำคัญในการริเริ่ม ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม สสส. จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ร่วมพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น โดยมีทีมโค้ชและที่ปรึกษาจาก SYNHUB ตลอดกระบวนการจนเกิดเป็นชิ้นงานนวัตกรรม ในปีนี้ สสส. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านโครงการ Prime Minister ‘s Award 2023 สานพลังคนรุ่นใหม่พัฒนานวัตกรรมสร้างสังคมสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง “6 นวัตกรรมสุขภาพ
ภายใต้โครงการ HealthTecH X ที่ได้ต่อยอดเป็นธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ 1.อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพอัจฉริยะประเภท IoTs สำหรับกลุ่มเปราะบาง จากทีม Bederly 2.Headband อัจฉริยะ ประเภท IoTs สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ จากทีม IFlow 3. Web แอปฯ ปรึกษาเรื่องสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ จากทีม Dr. ASA 4.System Walker อัจฉริยะ ประเภท IoTs สำหรับผู้สูงอายุ จากทีม Tech Care System 5. แอปฯ รวม Art Box เสริมสร้างสมาธิช่วยป้องกันเด็กสมาธิสั้น จากทีม Boxivity 6.ไม้เท้าเซ็นเซอร์ ตรวจจับสิ่งกีดขวาง ประเภท AI สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น จากทีม Golden Ticket ความสำเร็จของโครงการคือ เกิดนวัตกรรมสุขภาพที่เข้าถึงง่าย ส่งผลให้ทุกทีมมีโอกาสในการขยายผลเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพให้กับสังคมต่อไป” นางเข็มเพชร กล่าว
น.ส.รัศมี สืบชมภู ผู้จัดการโครงการ HealthTecH X และ CEO SYNHUB กล่าวว่า SYNHUB เป็นศูนย์บ่มเพาะ Startup และเปลี่ยนถ่าย SMEs โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมและต่อยอดธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงแบบก้าวกระโดด โครงการ Health-TecH X ขับเคลื่อนประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ สอดคล้องกับ Maga-Trend โลกด้าน ESG
ตลอดโครงการมีผู้สมัครทั้งหมด 105 ทีม ผ่านกิจกรรมคัดกรองเบื้องต้น 76 ทีม และคัดเลือกโดยกิจกรรม Pre–Pitching 23 ทีม โดยแบ่งตามประเภทเทคโนโลยีออกเป็นแอปฯ 11 ทีม AI 5 ทีม IoTs 5 ทีม Big Data 2 ทีม โดยมีทีมโค้ช ที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงช่วยยกระดับศักยภาพเฉพาะในแต่ละด้าน นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาและทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด เป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์และสังคมต่อไป