ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 หัวข้อ “อากาศสะอาด:ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชนและประชาสังคม” ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค. 2566 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ผลลัพธ์สำคัญคือการเห็นกลไกที่ชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบมาตรการลดการเผาในเชิงพื้นที่ ตัวอย่างสำคัญ คือ สถานีใบไม้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สร้างมูลค่าจากที่ใบไม้ที่จะเผาทิ้งไป กลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ โดยนำเศษชีวมวลต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ ทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋บดิน ปุ๋ยใบไม้ ซึ่งในไทยส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ เกิดการร่วงของใบไม้ 70-80% สิ่งที่ สสส. และองค์กรภาคีเครือข่ายเร่งดำเนินการคือทำให้เศษชีวมวล นำกลับมาเป็นมูลค่ากับชุมชน เช่น การทำปุ๋ยหมัก ทำเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ ของตกแต่ง หรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ ที่จะทำให้ได้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
“สสส. สนับสนุนส่งเสริมให้สถานีใบไม้ รวมถึงสินค้าชุมชนต่าง ๆ พัฒนาไปสู่เชิงธุรกิจและมีเครื่องหมายรับรอง โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย พัฒนาฉลากเขียว ที่แสดถึงลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์เป็นมิตรปลอดภัยกับผู้บริโภค มีส่วนร่วมในการสนับสนุนสินค้าบริการที่ไม่เผา ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งพลังให้ชุมชนสามารถนำชีวมวลต่าง ๆ กลับมาเป็นมูลค่าที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง ทำงานกับภาควิชาการ เพื่อพัฒนาช่องทางให้ SMEs มีทางเลือกในการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจุบันมี 45 ผลิตภัณฑ์อยู่ ที่เป็นระยะเริ่มต้น เตรียมหารือกับสภาองค์กรผู้บริโภคเพื่อขยายผลและทำให้ฉลากเขียวติดตลาด กระจายตัวมากขึ้น และอยากเชิญชวนช่วยกันสนับสนุนสินค้าฉลากเขียว คนไทยจะได้มีสินค้าที่ปลอดภัย สินค้าที่ไม่เผาและสินค้าที่พวกเราสามารถมีส่วนร่วมทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
นางสาวอัมพร บุญตัน ผู้ก่อตั้งสถานีใบไม้ กล่าวว่า เริ่มก่อตั้งสถานีใบไม้ตั้งแต่ปี 2550 จากการที่เห็นชาวบ้านจัดการใบไม้แห้งด้วยการเผา จึงอยากที่จะหาวิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยจากใบไม้จากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มต้นจากภายในครัวเรือนและคนรู้จัก ปัจจุบันมี 2 สถานี ได้แก่ สถานีหางดง อ.หางดงและสถานีสารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มีบริการรับทิ้ง บดกิ่งใบไม้และสอนทำปุ๋ยหมัก ค่าใช้จ่ายในการบริการ 100-300 บาท จากนั้นจะนำใบไม้ที่ได้รับมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ขณะนี้มี 3 ตัว คือปุ๋ย ดินปลูก และตัวสตาร์ทเตอร์ที่นำไปใส่ในเศษอาหารทำให้เกิดการย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ช่องทางจำหน่ายในตอนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นภายในชุมชน คนรู้จักและลูกค้าประจำเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องของกำลังการผลิต ที่ยังทำปุ๋ยได้ราว 30-40 ตัน ตั้งเป้าในปี 2567 จะทำให้ได้ 50 ตัน คิดเป็นใบไม้แห้งราว 100-150 ตันจะช่วยลดการเผาใบไม้ได้มากขึ้น