สรุปประเด็นแถลงข่าว • การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง

0
1597

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง หลายประเทศมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แต่การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดน้อยกว่าในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลตามากเนื่องจากความรุนแรงของโรคลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงชะลอลงบ้างแต่ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ดังนั้น ภาคการส่งออกของไทยยังมีโอกาสที่จะยังเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้หากสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อ supply chain ของภาคการผลิตได้
• ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในหลายมิติ หากสถานการณ์ลุกลามจนส่งผลให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป
ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ก็จะกดดันให้การค้าโลก รวมถึงการค้าระหว่างไทยและรัสเซียได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ หากทางรัสเซียตอบโต้ด้วยการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จะยิ่งกดดันให้อุปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตึงตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอันดับที่สองของโลก อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่สูงอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเหล็ก และอลูมิเนียม ในกรณีที่แย่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาสแรกของปี 2565 อาจพุ่งสูงกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าวต่อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
• หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงราคาสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาสินค้าและบริการในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนเริ่มส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 1.5-2.5% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่าที่ประมาณการได้
• เศรษฐกิจปี 2565 มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้เนื่องจากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้หลายช่องทาง รวมถึงเงินเฟ้อ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเตรียมการแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นมาก จนกระทบกับผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ที่ประชุม กกร. จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในกรอบ 1.5% ถึง 2.5%
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.
%YoY
ปี 2565
(ณ ม.ค. 65)
ปี 2565
(ณ ก.พ. 65)
GDP
3.0 ถึง 4.5
3.0 ถึง 4.5
ส่งออก
3.0 ถึง 5.0
3.0 ถึง 5.0
เงินเฟ้อ
1.2 ถึง 2.0
1.5 ถึง 2.5
• ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะนี้ โดยเฉพาะในหมวดอาหารสด และพลังงาน ที่มีการทยอยปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก อาจส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะชะลอการบริโภคลง ประกอบกับประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะสะท้อนผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยที่ประชุม
กกร. มีข้อเสนอ ดังนี้
1) ขอความร่วมมือภาคเอกชนในการตรึงราคาสินค้า โดยขอให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบที่มีอยู่เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาออกไปก่อน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
2) ขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้มภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ
3) ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงวันที่เดินทางถึงไทย และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ภาคเอกชน โดย กกร. ขอมีส่วนร่วมในคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
( ศบค.) เพื่อเสนอแนะและให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการในสถานการณ์โควิด -19 ให้
มาตรการที่ออกมามีประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการได้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากภาครัฐให้การสนับสนุน โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า หรือมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่เป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการ นั้นจะเป็นประโยชน์ทั้งส่งเสริมการป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ให้กับบุคลากร และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลของหน่วยงานภาครัฐในอนาคตอย่างมาก