สรุปประเด็นแถลงข่าว ประจำเดือน กรกฎาคม 2565

0
1159

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในช่วงครึ่งหลังของปีหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและผลกระทบต่อราคาพลังงานยังไม่มีคลี่คลาย นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมากจากนโยบาย zero covid policy และอาจฟื้นตัวได้ช้าแม้รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
• อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศจะฟื้นตัวได้ดีถึงระดับกว่า 80% ของภาวะปกติในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวจากช่วงครึ่งปีแรก แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงระดับ 6-8% ในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
• ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตได้ แต่ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจในวงกว้าง และยังรวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นทำให้ที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% จากกรอบเดิมที่ 2.5% ถึง 4.0% ขณะที่ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออกเป็นขยายตัวในกรอบ 5.0% ถึง 7.0% และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5.0% ถึง 7.0% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป และค่าเงินบาทที่มีการอ่อนค่าลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิม

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ของ กกร.

%YoY
ปี 2565
(ณ พ.ค. 65)
ปี 2565
(ณ มิ.ย. 65)
ปี 2565
(ณ ก.ค. 65)
GDP
2.5 ถึง 4.0
2.5 ถึง 4.0
2.75 ถึง 3.5
ส่งออก
3.0 ถึง 5.0
3.0 ถึง 5.0
5.0 ถึง 7.0
เงินเฟ้อ
3.5 ถึง 5.5
3.5 ถึง 5.5
5.0 ถึง 7.0

จากสถานการณ์ที่กำลังจะเข้าสู่การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เนื่องจากปัจจัยในด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น กกร.จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนใน 3 ด้าน ดังนี้
• ขอให้ภาครัฐมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแอ จากภาวะเงินเฟ้อสูง และ
• ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานหรือด้านงานบริการกับภาครัฐ เนื่องจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้มาก เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
• ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง เช่น การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งคาดหมายว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้