สรพ. เยี่ยมชมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน

0
19


สรพ. เยี่ยมชมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน สรพ. ลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลังโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน ชี้จุดเด่นเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่พัฒนาการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ หรือ DHSA โดยมีเครือข่ายด้านสุขภาพเพื่อดูแลประชาชนต่อเนื่องลงไปถึงในระดับชุมชนจนสามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงอย่างชัดเจน จนได้รับการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ หรือ DHSA ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2


(วันที่ 23 เมษายน 2568) พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. พร้อมคณะผู้บริหาร สรพ. เดินทางลงพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เพื่อเยี่ยมเสริมพลังให้กำลังใจในความสำเร็จที่ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA และ การรับรองบริการสุขภาพระดับอำเภอ DHSA

โดยมี นพ.วิโรจน์ เลิศพงศ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน พร้อมทีมงานให้การต้อนรับ
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ กล่าวว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 150 เตียง เริ่มเข้าสู่กระบวนการการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน HA ตั้งแต่ปี 2548 และได้ทำการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐาน HA (re-acc ครั้งที่ 3)

อีกทั้งยังได้รับการรับรองบริการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation) หรือ DHSA (re DHSA ครั้งที่ 2) โดยมีความโดดเด่นในการพัฒนาศักยภาพการให้บริการทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ ระบบสนับสนุนที่จําเป็น จนสามารถเป็น node ในการรับส่งต่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลในโซนเหนือของ จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ ยังมีการประสานความร่วมมือที่ดีกับเครือข่ายและชุมชนในการสร้างสุขภาวะของประชาชนในอำเภอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทำให้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ทีมงานมีความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ

โดยมีกลไกคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ EOC กำหนดนโยบายการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพของเครือข่ายอำเภอ ส่งผลให้อำเภอมีความพร้อม สามารถตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด 19 ภายใต้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่มีจำนวนที่ลดน้อยลง และผู้ป่วยรายเก่าสามารถควบคุมโรคได้ดี


นพ.วิโรจน์ เลิศพงศ์พิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากโรงพยาบาลได้ผ่านการรับรอง HA แล้ว แต่เมื่อดูแลคนไข้ไประยะหนึ่งกลับพบว่าการดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียวอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการดูแล แต่ต้องมีการดูแลคนไข้ต่อเนื่องไปถึงในระดับชุมชนและที่บ้าน ด้วยเหตุนี้ มาตรฐาน DHSA จึงเป็นมาตรฐานที่มาตอบโจทย์การดูแลคนไข้ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานบริการสุขภาพและการสร้างสุขภาวะในระดับพื้นที่ เน้นการ “สร้างนำซ่อม” ช่วยสนับสนุนการสร้างสังคมสุขภาวะที่มีการดูแลเอื้ออาทรกัน

“การทำงานของโรงพยาบาล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสำคัญ เช่น โรคเบาหวาน ยาเสพติด เป็นเรื่องใหญ่มากที่เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองและทุกโรงพยาบาลออกทำงานร่วมกับเครือข่ายอยู่แล้ว แต่จุดเด่นของการนำมาตรฐาน DHSA มาใช้ คือมันจะเป็นกรอบให้เราทำงานได้ครบทุกมิติ เช่น ถ้าไม่ใช้แนวทางตามมาตรฐาน DHSA เราก็ต้องคิดเองทำเอง เราอาจคิดได้ 1-2 มิติ แต่ในตัวมาตรฐานจะบอกไปถึง 3-4-5 เมื่อมองครบทุกมิติก็ทำให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมที่แต่ละเครือข่ายต่างคนต่างทำทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน จึงเกิดการบูรณาการทั้งคน เงิน ของ มีการสื่อสารทำความเข้าในและร่วมกันวางแผน แต่ละฝ่ายรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร ช่วยกันคนละไม้ละมือ และสุดท้ายออกมาเป็นผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจในระยะเวลาอันสั้น ทั้งเรื่องเบาหวาน ยาเสพติดและจิตเวช”นพ.วิโรจน์ กล่าว


ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ กล่าวว่า จุดเด่นของโรงพยาบาลกระนวน คือ 1.รู้จักตัวเองว่าในฐานะโรงพยาบาลชุมชน จะทำงานอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ 2. รู้จักพื้นที่ว่ากลุ่มคนไข้และวิธีการพัฒนาระบบเพื่อส่งมอบบริการนั้นต้องเน้นเรื่องใด และ 3. การเป็นโรงพยาบาลชุมชน หมายความว่าต้องทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆที่อยู่ในชุมชนเพื่อให้สามารถส่งมอบบริการที่ดี
พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า จุดเด่นทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของมาตรฐาน HA ที่กำหนดว่าจะต้องทำให้ระบบบริการสุขภาพที่อยู่ในบริบทของพื้นที่นั้นๆ สามารถส่งมอบผลลัพธ์สุขภาพที่ดี ยิ่งกว่านั้น จุดเด่นสำคัญอีกประการคือโรงพยาบาลกระนวนยังใช้มาตรฐาน DHSA และได้รับการรับรองอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผลลัพธ์ของการทำงานแบบเครือข่ายที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เช่น คนไข้เบาหวานสามารถหายจากโรคได้ด้วยกระบวนการออกแบบระบบที่ดี ทำซ้ำได้และขยายผลได้

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลกระนวนทำให้เห็นว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ ต้องออกแบบผ่านผู้ป่วยเป็นหลัก ดังนั้น จึงเกิดการเชื่อมโยง ส่งเสริม ส่งต่อ ทั้งข้อมูล ความรู้ ระบบและบริการ ต่อเนื่องจากโรงพยาบาลไปสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ไป รพ.สต. ไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปจนถึงประชาชน นี่คือระบบสุขภาพที่ดีงามสำหรับชุมชนอย่างแท้จริง

“การพัฒนาคุณภาพไม่มีคำว่าดีที่สุด มีแต่ดีแล้วดีได้อีก ดังนั้น เขาก็จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วพัฒนาต่อยอดและต่อเนื่อง ถ้าโรงพยาบาลกระนวนจะยกระดับการรับรองคุณภาพขึ้นไปก็สามารถเป็น Role Model เพราะมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ถ้าในเชิงการรับรองคุณภาพก็สามารถต่อไปถึงการรับรองขั้นก้าวหน้า Advanced HA”พญ.ปิยวรรณ กล่าว