สรพ. เยี่ยมชมการพัฒนานวัตกรรม 2P Safety Tech ผลงาน “โรคประจำตัวของฉัน” โรงพยาบาลค่าย นวมินทราชินี จ.ชลบุรี ชี้เป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วย
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. พร้อมผู้บริหาร สวทช. และคณะสื่อมวลชน เดินทางลงพื้นที่โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรีเยี่ยมชมการพัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยของผู้ป่วยในโครงการ 2P Safety Tech ผลงาน “โรคประจำตัวของฉัน” เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567ที่ผ่านมา โดยผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น 2P Safety Tech ประเภท The Best of Change ในงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ประจำปี 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย
พญ.ปิยวรรณกล่าวว่าโครงการ 2P Safety Tech เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE)2 ภายใต้หลักคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ ดังนั้นเพื่อลดความผิดพลาดจากมนุษย์ จึงต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย โดยนำ pain point ของโรงพยาบาล มาจับคู่กับนวัตกรของ สวทช. เพื่อออกแบบพัฒนาระบบหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยลดข้อผิดพลาดในกระบวนการทำงานตามบริบทของโรงพยาบาลนั้นๆ
“สรพ. ทำหน้าที่กําหนดมาตรฐานและการรับรองคุณภาพ ในการให้บริการของสถานพยาบาล เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน บทบาทของ สรพ.ไม่ได้มีแค่การประเมินต่างๆ แต่เรายัง ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการของสถานพยาบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ดีและมีคุณภาพ สรพ.จึงทำความร่วมมือกับ สวทช. พัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข
ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ 2P Safety Tech ที่ทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 โดยเอาปัญหาของโรงพยาบาลมาเป็นโจทย์เพื่อให้ นวัตกรพัฒนานวัตกรรม ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมมือกับผู้นำซึ่งเป็นแพทย์และพยาบาลช่วยกันสร้างทีมวิเคราะห์ร่วมต่อจิ๊กซอว์และพัฒนา จนในที่สุดก็ได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของโรงพยาบาลที่สามารรถค้นหาและทำการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้รับบริการได้เข้ารับการตรวจรักษาได้เร็วขึ้น ประชาชนและผู้ป่วยปลอดภัย” พ.ญ.ปิยวรรณ กล่าว
ด้านพ.อ.วิทวัส เกษรารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรีกล่าวว่าในฐานะผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับงานบริการมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องของการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยผู้ป่วยให้เข้าถึงการบริการได้ง่าย ปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วขึ้น โรงพยาบาลจึงได้ทำการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “โรคประจำตัวของฉัน” ขึ้นมา เพื่อช่วยคัดกรองผลการตรวจร่างกายให้กับผู้ป่วย ลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ และทำให้ผู้ป่วยสามารถทราบสถานะตัวเองว่าผลการตรวจสุขภาพเป็นอย่างไร ทำให้เขารู้ตัวว่าต้องมาพบแพทย์ให้เร็วขึ้นหรือไม่ ปัจจุบันสามารถทราบผลได้ไม่เกิน 1 อาทิตย์ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมกับ สรพ. ในการดำเนินงานโครงการ 2P Safety Tech มาตั้งแต่ปี 2561 มาจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ร่วมกับทีมนวัตกร ได้เข้ามาให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลต่างๆ จนเกิดการพัฒนาผลงานนวัตกรรมด้านความปลอดภัยออกมามากมาย
ซึ่งโรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี เป็นอีกหนึ่งสถานพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น “โรคประจำตัวของฉัน” ขึ้นมาเพื่อแก้ pain point ในระบบการทำงานได้อย่างตรงจุด เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จนได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นประเภท The Best of Change ในปีที่ผ่านมา
“ผลงานแอปฯ โรคประจำตัวของฉัน ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแก้ปัญหาการทำงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งกว่าที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีออกมา ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัญหา กระบวนการคิดหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ มากมาย การลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินีในครั้งนี้ สวทช. เราต้องการถอดบทเรียนและเผยแพร่องค์ความรู้เป็นตัวอย่างให้แก่สถานพยาบาลอื่นๆ ต่อไป” นางศันสนีย์ กล่าว
ด้าน พ.ต.หญิง กนกพร วงศ์อนันต์กิจ อายุรแพทย์โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี หัวหน้าทีมพัฒนาแอปฯ “โรคประจำตัวของฉัน” กล่าวว่า แต่เดิมนั้น โรงพยาบาลได้พัฒนานวัตกรรมลูกบอล 5 สี เพื่อใช้ในการตรวจสุขภาพประจำปี ให้กำลังพลตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของตนเอง โดยใน 5 สีนี้ ประกอบด้วย สีเขียว หมายถึงสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง สีเหลือง หมายถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค สีส้ม หมายถึง ผู้ป่วยรายใหม่เข้าเกณฑ์วินิจฉัยโรค สีชมพู ผู้ป่วยเก่าที่ควบคุมโรคได้ดี และสีแดง ผู้ป่วยเก่าที่การรักษายังไม่บรรลุเป้าหมาย
สำหรับขั้นตอนการทำงานแบบเดิม เมื่อได้ผลตรวจสุขภาพแล้ว พยาบาลจะประเมินคัดแยกสี จากนั้นผลไปแจ้งตามหน่วยต่างๆ แล้วแนะนำกำลังพลที่ผลตรวจเข้าเกณฑ์สีส้มให้มาพบแพทย์ แต่ pain point คือด้วยจำนวนกำลังพลที่มีมากถึง 4,875 นาย ต้องใช้พยาบาล 2 คน ทำการประเมินคัดแยกสี โดยสามารถคัดกรองได้เพียง 18 คน/1 ชม. ทำให้เกิดความล่าช้าในการรายงานผลนานกว่า 3 เดือน อีกทั้งยังมีอัตราการคัดกรองผิดพลาด (Human Error) ถึง 18% สิ้นเปลืองทั้งเวลาและบุคลากร นอกจากนี้ยังมีเอกสารบางส่วนที่สูญหาย ทำให้ผลลัพธ์มีกำลังพลสีส้มกลับมาพบแพทย์ประมาณ 72.8% และแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยสีส้มก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
จึงได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “โรคประจำตัวของฉัน” ขึ้นมา ซึ่งเมื่อบันทึกข้อมูลการตรวจสุขภาพเข้าไปในระบบแล้ว แอปฯจะทำการตัดแยกสีและผลตรวจสุขภาพโดยอัตโนมัติ เมื่อกำลังพลแต่ละนาย log in เข้าสู่ระบบก็จะทราบสถานะสุขภาพของตนว่าเป็นสีอะไร สามารถอ่านข้อมูลผลแลป คำแนะนำการปฏิบัติตัว รวมทั้งดูผลแลปย้อนหลังได้ อีกทั้งมีระบบนัดหมายให้ผู้ป่วยกลุ่มสีส้มเข้าพบแพทย์ ขณะที่ในฝั่งโรงพยาบาลเองก็จะมีหน้า dashboard แสดงภาพรวมสถานะสุขภาพกำลังพล สถานะการติดตามผู้ป่วยกลุ่มสีต่างๆ และใช้เป็นข้อมูลในการทำงานเชิงรุกเพื่อดึงผู้ป่วยกลุ่มสีส้มเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ ผลลัพธ์ของการนำแอปฯ “โรคประจำตัวของฉัน” มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน ทำให้สามารถรายงานผลการตรวจสุขภาพได้เร็วขึ้น 93.3% จากเดิม 3 เดือน เหลือ 1 สัปดาห์ อัตราการคัดกรองผิดพลาดลดลงจาก 18% เหลือเพียง 0.66% ลดค่าใช้จ่ายด้านเอกสารและค่าเดินทางไปแจ้งผล ลดจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการคัดแยกสี และประหยัดเวลาลงได้อย่างมาก ส่วนอัตราการกลับมาพบแพทย์ของผู้ป่วยกลุ่มสีส้มอยู่ระหว่างการประเมินผล โดยทางโรงพยาบาลตั้งเป้าให้กำลังพลส่วนนี้กลับมาพบแพทย์ให้ได้ 100%
พันตรีทศ ตั้งอยู่ดีหนึ่งในผู้ใช้บริการตรวจสุขภาพจากรพ.ค่ายนวมินทราชินีจ.ชลบุรีกล่าวว่าการตรวจสุขภาพร่างกาย เป็นนโยบายที่กองทัพบกให้ความสำคัญและกำหนดให้กำลังพลทุกนายเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เมื่อก่อนการรายงานผลตรวจสุขภาพจะใช้วิธีการพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษ ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่า 1 เดือนถึงจะทราบผล พอปรับเปลี่ยนวิธีการรายงานผลมาเป็นรูปแบบแอปพลิเคชัน “โรคประจำตัวของฉัน” บนสมาร์ทโฟน ช่วยให้ทราบผลการตรวจได้รวดเร็วขึ้น สามารถนำข้อมูลการตรวจไปใช้ในการรักษาต่อเนื่อง ประโยชน์ที่ได้คือช่วยกระตุ้นเตือนแนะนำให้เราตระหนักว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ทั้งเรื่องการปรับพฤติกรรมการกินยา ลดการใช้ยาที่ไม่ใช่รักษาโรคประจำตัว, การควบคุมการรับประทานอาหารลดหวาน มัน เค็มให้น้อยลง เป็นต้น ทำให้โรคประจำตัวไม่ทรุดหนักไปมากกว่าเดิม