เมื่อไม่นานมานี้ ณ อาคารสาธารณสุขวิศิษฏ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย (Thai Lifestyle Medicine and Wellbeing Association) ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ เรื่อง การเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตในการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพของบุคลากรและประชาชน กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์วิถีชีวิต ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตให้กับสมาชิกขององค์กร เพื่อนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และในการดูแลรักษาผู้ป่วย และส่งเสริมความร่วมมือด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตให้บุคลากรภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ

สมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย (Thai Lifestyle Medicine and Wellbeing Association ชื่อย่อว่า TLWA) ได้จัดทำความร่วมมือกับสถาบันในต่างประเทศคือ Lifestyle Medicine Global Alliance และ International Board of Lifestyle Medicine ซึ่งมีเครือข่ายกับ 30 ประเทศที่มีองค์กรด้าน Lifestyle Medicine เช่นกัน เพื่อประสานความร่วมมือและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และการศึกษาวิจัยในเวทีนานาชาติต่อไป

เวชศาสตร์วิถีชีวิตคือการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่มีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ด้วยการให้ความสำคัญกับเสาหลักหกด้าน คือ การรับประทานอาหารจากธรรมชาติที่มีพื้นฐานมาจากพืช (Whole Food, Plant-based Diet) มีการเคลื่อนไหวทางกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับได้อย่างเพียงพอเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพ มีการบริหารความเครียด หยุดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการรับสารที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ การมีมุมมองทางจิตวิทยาเชิงบวก และมีความเชื่อมโยงกันทางสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับการรักษาโรคไม่ติดต่อและนำพาสถานะของโรคให้ย้อนกลับไปสู่ภาวะปกติได้
ดังนั้น เพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว สมาคมฯเล็งเห็นว่าความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะในมิติต่างๆ จะช่วยทำให้การ ส่งเสริมการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตโดยบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนประสบความสำเร็จ สมาคมฯ จึงได้ทาบทามองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกัน จัดทำบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างสมาคมฯ กับแต่ละองค์กรดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ภายหลังพิธีลงนาม ได้มีการปาฐกถาพิเศษและการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เวชศาสตร์วิถีชีวิตและปัญหาฝุ่น PM2.5” โดยมี ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและที่ปรึกษาสมาคมฯ ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ และตามด้วยการสัมมนาวิชาการโดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.นพ.วิทวัส สุรวัฒนสกุล ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ นายกสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย

อนึ่ง ระหว่างวันที่ 15 ถึง 17 พฤศจิกายน 2567 สมาคมฯ จะจัดการประชุมนานาชาติ Lifestyle Medicine and Wellbeing International Conference Bangkok ซึ่งจะมีวิทยากรจากต่างประเทศและวิทยากรชาวไทยผู้มีประสบการณ์ในงานด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตมานำเสนอข้อมูลทางวิชาการ และแนวทางในการนำ Lifestyle Medicine ไปใช้ในการดูแลคนไข้และชุมชน ท่านที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้ทางเว็บไซด์ www.TLWA.or.th