สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดการณ์ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 65 เติบโต 3.5%-4.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินทุ่งกุลาร้องไห้ตามแนวคิด ESG เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

0
908

สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน 2565 รวม 6 เดือนที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 132,741 ล้านบาท เติบโต 2.1% โดยคาดการณ์ทั้งปี 2565 เติบโต 3.5%-4.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 272,000-274,600 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท หรือเติบโตราว 4.5%-5.5% จากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 ว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากถดถอยมาจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันผลกระทบต่าง ๆ ทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ช่วงต้นปีถึงกลางปี และความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน แต่ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยรวม 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา (ไตรมาส 2 ปี 2565) ยังคงมีอัตราการเติบโต 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 132,741 ล้านบาท โดยการประกันภัยแต่ละประเภทยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2565 ทั้งปีนั้น สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) สมาคมประกันวินาศภัยไทย ประมาณการว่า จะเติบโตราว 3.5%-4.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 272,000-274,600 ล้านบาท โดยการประกันภัยแทบทุกประเภทมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว การท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการประกันภัย และคาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีอัตราการเติบโตราว 4.5%-5.5% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงรายละเอียดผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ ไตรมาส 2 (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2565 ว่า เป็นส่วนของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์จำนวน 75,453 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.0%) โดยเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมและการคลี่คลายของปัญหาชิ้นส่วนในการผลิตขาดตลาด ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์ของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์ทั้งปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันอัคคีภัยมีจำนวน 5,325 ล้านบาท (ลดลง 3.4%) โดยลดลงตามมูลค่าการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงในครึ่งปีแรก ส่วนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยทางทะเลและขนส่งมีจำนวน 3,553 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 12.4%) โดยเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการที่มากขึ้นของผู้บริโภคซึ่งส่งผลดีต่อการประกันภัยขนส่ง มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีจำนวน 48,411 ล้านบาท (ลดลง 0.8%) โดยลดลงจากการที่เบี้ยประกันภัย COVID-19 กว่า 6,000 ล้านบาทหายไปจากตลาด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประกันภัยการเดินทาง ซึ่งอยู่ในกลุ่มของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดนั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเพิ่มสูงขึ้นมากเป็น 1,243 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 238.6%) สืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตลอดจนการเปิดประเทศและการคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น

สำหรับอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของการประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ ไตรมาส 2 (มกราคม – มิถุนายน) ของปี 2565 นั้น พบว่า อัตราความเสียหายโดยรวมของการประกันภัยทุกประเภทนั้นเท่ากับ 121.0% โดยอัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์เท่ากับ 55.3% อัตราความเสียหายของการประกันอัคคีภัยเท่ากับ 21.9% อัตราความเสียหายของการประกันภัยทางทะเลเท่ากับ 36.6% และอัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดเท่ากับ 300.9% โดยสาเหตุที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดสูงขึ้นมากนั้นเป็นเพราะรวมความเสียหายของการประกันภัย COVID-19 ในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงมาก

ในส่วนของโครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2564 ที่กำลังจะสรุปปิดโครงการนั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 3,823.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งหมดของการประกันภัยทุกประเภท โดยเป็นเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี 3,568.4 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 255.3 ล้านบาท ส่วนอัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวนาปีนั้นเท่ากับ 47.8% ในขณะที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่ากับ 22.5% ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาไม่มีความเสียหายขนาดใหญ่หรือความเสียหายในวงกว้างเกิดขึ้นมากนักกับแปลงเพาะปลูกที่เอาประกันภัยในโครงการฯ

นายอานนท์ วังวสุ กล่าวเสริมว่า นอกจากการทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนของสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างยาวนานเป็นเวลา 55 ปีแล้ว สมาคมฯ ยังมีเป้าประสงค์ให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเคียงคู่สังคมไทย สมาคมฯ จึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามพันธกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักตามแนวคิด ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน คือ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ยึดมั่นดำเนินงานตามหลักธรรมภิบาลรวมทั้งให้การสนับสนุนกิจกรรมและโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมาโดยตลอด

หนึ่งในโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ดำเนินการและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน หรือ “โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการเปลี่ยนให้พื้นที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้” โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี มาตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการจัดตั้งกองทุนประกันภัยข้าวนาปีขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นเงินสมทบจาก “บริษัท” ที่เข้าร่วมรับประกันภัย และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองทุนประกันภัยพืชผล” เมื่อปี 2561 เนื่องจากมีโครงการประกันภัยพืชอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้เอาประกันภัยข้าวนาปี กรณีที่พื้นที่ที่เอาประกันภัยประสบภัยพิบัติ แต่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สมาคมฯ จึงนำเงินนี้บางส่วนมาช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก โดยได้เลือกพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศไทย และประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากอยู่เป็นประจำ มาเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินดังกล่าว

โครงการธนาคารน้ำใต้ดินข้างต้นเป็นโครงการที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อย่างเต็มรูปแบบไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่ ธนาคารน้ำใต้ดิน “หนองฮีโมเดล” ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด ธนาคารน้ำใต้ดินตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และ ธนาคารน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 45,485,500 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้กว่า 169,475 ไร่ หรือคิดเป็น 8.4% ของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

ทั้งนี้ ในปี 2565 สมาคมฯ ยังได้ขยายพื้นที่การดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ณ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้งบประมาณรวม 16,131,500 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เพิ่มขึ้นอีก 47,052 ไร่ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยหากโครงการนี้แล้วเสร็จ การทำธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้ง 4 โครงการนี้จะส่งผลให้น้ำใต้ดินแผ่กระจายไปโดยรอบตามทิศทางการเคลื่อนตัวของโลก การเติมน้ำลงใต้ดินมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดแหล่งน้ำใต้ดินเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในบริเวณเครือข่ายนี้มีความชุ่มชื้นและดูดซับน้ำได้มากขึ้น ลดปัญหาการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ช่วยให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ดีขึ้นเนื่องจากมีน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ หากโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่สมาคมฯ ดำเนินการอยู่นี้ประสบผลสำเร็จในการลดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมก็จะเป็นโครงการตัวอย่างให้ภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ต้องการทำโครงการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนสามารถนำไปดำเนินการขยายผลทำธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยได้ต่อไปด้วย

“การทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนี้เป็นทิศทางที่สมาคมฯ มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ ESG ที่เป็นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนต่อไป” นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้าย