สมาคมประกันชีวิตไทยเผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตไทย ปี 65 และ แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทย ปี 66

0
506

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2565 ระหว่าง มกราคม – ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 611,374 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับปี 2564 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 169,878 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.49 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,496 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.43 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 105,192 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.42

2.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 64,686 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 14.27

จำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้
1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 325,227 ล้านบาท อัตรา
การเติบโตร้อยละ 1.43 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.20
2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 235,788 ล้านบาทอัตราการเติบโตลดลง ร้อยละ 3.39 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.57
3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,516 ล้านบาท อัตรา
การเติบโตร้อยละ 8.63 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.34
4. การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 13,981 ล้านบาท
อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 2.04 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.29
5. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 1,738 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 29.11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.28
6. การขายผ่านช่องทางอื่น เช่น การขาย Worksite, การขายผ่านการออกบูธ, การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,124 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 13.44 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.33
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในปี 2565 คือ สัญญาเพิ่มเติม (Riders) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงถึง 103,635 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.95 มาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงการดูแลและวางแผนเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกแบบประกันได้ตรงตามความต้องการด้วยความสะดวกรวดเร็ว และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) สามารถเติบโตได้ดีด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,741 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.57
สำหรับปี 2566 สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,500 – 623,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0 – 2 มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ ร้อยละ 81 – 82 ซึ่งการคาดการณ์ในครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัว ร้อยละ 2.7 – 3.7 (ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566)
ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร (ทั้งระบบ online และ offline) เช่น telemedicine บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย
รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตาม สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) แต่ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการปรับพอร์ตทั้งในส่วนของการลงทุนและ Product mix และทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตฐานกฎหมายสากล เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน เช่น การส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ ผลักดันกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติ รวมถึงการผ่อนคลายการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม สนับสนุนการพัฒนากระบวนการขายให้ครบถ้วนทุกช่องทาง สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างครอบคลุม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยบริหารต้นทุนในระยะยาว อีกทั้งการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนถึงการป้องกันและรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างองค์ความรู้เพื่อป้องกันภัยจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ซึ่งจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกในการขอปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน ผลักดันระบบการจัดสอบความรู้ ระบบออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้บริษัทสมาชิกและบุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม สมาคมประกันชีวิตไทยยังคงยึดมั่นต่อบทบาทการเป็นแกนกลางในการประสานพันธกิจทั้งในรูปแบบประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากบริษัทประกันชีวิตและหน่วยงานกำกับ รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อกำกับและติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมทั้งให้บริการลูกค้าได้ทุกรูปแบบไปพร้อมกับเติบโตได้อย่างยั่งยืน