สมาคมประกันชีวิตไทยเตือนเคลมสินไหมทำเองได้ไม่ต้องพึ่งคนกลาง

0
1570

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึงกรณีที่มีบุคคลกล่าวอ้างว่ามาจากสมาคมประกันชีวิตไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของ 23 บริษัทประกันชีวิต โทรศัพท์ติดต่อมายังผู้เอาประกันภัยเพื่อสอบถามข้อมูลการถือครองกรมธรรม์ประกันภัย พร้อมทำการนัดหมายเพื่อขอตรวจสอบกรมธรรม์ดังกล่าว ซึ่งหากพบว่ากรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมีการชำระเบี้ยประกันภัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้กรมธรรม์นั้นมีมูลค่าเงินสดก็จะแนะนำให้หยุดส่งเบี้ยประกันภัย ปิดกรมธรรม์โดยการเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อขอรับเงินสดตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ แล้วนำเงินสดส่วนนั้นมาเปิดกรมธรรม์ฉบับใหม่กับบริษัทประกันชีวิตแห่งใหม่ผ่านตนเองซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตที่ตนเองสังกัดอยู่ โดยให้เหตุผลว่ากรมธรรม์ฉบับใหม่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่คุ้มค่ากว่ากับผู้เอาประกันภัย  

นอกจากนี้ บางรายยังมีพฤติกรรมอาสาช่วยจัดการ ทั้งในรูปแบบการใช้สิทธิต่างๆ รวมถึงการเบิกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ โดยให้ผู้เอาประกันภัย และ/หรือผู้รับประโยชน์เซ็นหนังสือมอบอำนาจให้ไปดำเนินการแทนได้ เมื่อได้รับเงินมาแล้วจะมีการคิดค่าธรรมเนียม หรือขอรับเงินส่วนแบ่งในการดำเนินการ ซึ่งการใช้สิทธิต่างๆ หรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์นั้น ผู้เอาประกันภัย และ/หรือผู้รับประโยชน์สามารถติดต่อยังบริษัทที่รับประกันภัยได้โดยตรง ผ่านช่องทางอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น ออนไลน์ในรูปแบบแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัทพร้อมอำนวยความสะดวกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด 

ต่อกรณีดังกล่าว สมาคมประกันชีวิตไทยจึงขอยืนยันว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมฯ ไม่มีนโยบายให้บุคคลใดกระทำการดังกล่าว พร้อมทั้งขอแนะนำผู้เอาประกันภัย ไม่ควรหลงเชื่อและกระทำตาม โดยในกรณีของการเวนคืนกรมธรรม์นั้น จำนวนเงินที่ได้รับจากการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนที่จะครบกำหนดสัญญานั้นจะน้อยกว่าจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันภัยจ่ายไป และการทำกรมธรรม์ ฉบับใหม่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยก็จะสูงขึ้นตามอายุของผู้เอาประกันภัยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสุขภาพของผู้เอาประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทประกันชีวิตแห่งใหม่ก็อาจปฏิเสธคำขอเอาประกันภัย ไม่รับประกันภัย หรือถ้ารับก็อาจต้องชำระเบี้ยประกันภัยในอัตราที่สูงขึ้นอีก ความคุ้มครองรวมถึงกรณีที่ผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ และหากซื้อสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองทันที สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพจะมีช่วงระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง (Waiting Period) รวมถึงสุขภาพของผู้เอาประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป โรคหรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายหลังที่ทำประกันชีวิตกรมธรรม์เดิมแต่เป็นระยะเวลาก่อนทำประกันชีวิตฉบับใหม่อาจจะไม่ได้รับความคุมครองตามสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ รวมถึงสิทธิเรื่องการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันภัยจากกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ที่สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท แต่ถ้ามีการยกเลิกหรือเวนคืนประกันชีวิตก่อนครบสัญญาอาจเสียสิทธิทางภาษี กรมสรรพากรอาจเรียกคืนสิทธิลดหย่อนภาษีพร้อมเบี้ยปรับได้

นอกจากนี้ กรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเก่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบสะสมทรัพย์ อาจมีการันตีผลตอบแทนหรือ มีเงินผลประโยชน์จ่ายคืนระหว่างสัญญามากกว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ควรให้กรมธรรม์ขาดอายุหรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา เพราะท่านอาจจะหาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าไม่ได้อีกแล้วในยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นปัจจุบัน

หากมีข้อสงสัย สามารถตรวจสอบกับบริษัทประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สมาคมประกันชีวิตไทยเบอร์โทรศัพท์ 02-679-8080 e-mail : tlaa@tlaa.org หรือhttp://www.tlaa.org