สมาคมนักวิชาการอ้อยฯ และพันธมิตรอ้อยยั่งยืน (SHEEP) อัดฉีดความรู้ทายาทรุ่นใหม่ใช้ โดรนเกษตร

0
1371

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตร SHEEP ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซินเจนทา ไทยชูการ์ มิลเลอร์ และสมาคมเกษตรปลอดภัย จัดอบรมโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภาคที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตร เพิ่มความแม่นยำในการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารอารักขาพืชและลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ค่าแรงสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและการทวีความรุนแรงของศัตรูพืช ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าใช้อย่างเร่งด่วน “โดรน” เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญและช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้สำรวจแปลงปลูกเพื่อระบุตำแหน่งพื้นที่ ศัตรูพืช สภาพอากาศ และใช้ในการพ่นสารปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น สารอาหารบำรุงการเจริญเติบโต สารอารักขาพืช ในบริเวณแปลงปลูกที่เครื่องจักรชนิดอื่น ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออ้อยมีความสูงถึง 6 เมตร

นางสาวรัตนา ของเดิม เกษตรกรไร่อ้อยรุ่นใหม่ คลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ ให้ความรู้เพิ่มขึ้นในหลายเรื่อง เทคนิคในการบิน การผสมและการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถนำไปใช้จริงได้อย่างถูกต้อง ช่วยลดเวลาในการทำงานลง ไม่ต้องใช้แรงงานคน สะดวกและจัดการแปลงปลูกได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออ้อยโตมากกว่า 1 เมตร โดรนช่วยได้เป็นอย่างมาก ความคิดเห็นส่วนตัว อยากให้เพื่อนเกษตรกรหันมาใช้โดรนกัน ยิ่งมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 200 ไร่ ซื้อใช้เองก็คุ้มแล้ว 

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ Value Chain and Stewardship Lead, Thailand บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หรือ ซินเจนทา หนึ่งในพันธมิตร SHEEP กล่าวว่า การใช้ปัจจัยการผลิตกับโดรนเกษตรปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการบริหารจัดการแปลงปลูกลด ปัญหาเรื่องแรงงาน และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีต่อพืชที่ได้รับผลกระทบกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเสริมความรู้สร้างศักยภาพเกษตรกร ให้ใช้โดรนเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวินิจฉัยศัตรูพืช เทคนิคการใช้ปัจจัยทางการเกษตร การใช้สารเคมีเกษตรกับโดรนเกษตร รวมถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ พืชปลูก และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นหัวใจสำคัญของซินเจนทาที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย การจัดอบรมเชิงปฏิบัติครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจจากลูกหลานชาวไร่อ้อย ที่จะเป็นทายาทสืบต่อการปลูกอ้อยในรุ่นต่อ ๆ ไป เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีความสนใจและพร้อมที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ในการเกษตร มีกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคสนาม เพื่อให้ทายาทชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ได้เข้าถึง เข้าใจ นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพแม่นยำในการปลูกอ้อย 

 

“สำหรับโครงการพัฒนาทายาทเกษตรกรผู้ใช้โดรนในไร่อ้อยและผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Farmer’s Club) นอกเหนือจากการพัฒนาความรู้และเสริมทักษะภาคปฏิบัติแล้ว เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อซื้อโดรนสำหรับการเป็นนักบินโดรนในไร่อ้อยได้  โดยพันธมิตรโครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) ได้ร่วมกันผลักดันโครงการ เพื่อตอบสนองการนโยบายภาครัฐในการทำเกษตรแม่นยำสูง และสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยจะมีโรงงานน้ำตาล และเครือข่ายสมาคมชาวไร่อ้อยเข้าร่วมในโครงการนี้อีกด้วย” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจและเกษตรกรชาวไร่อ้อย สามารถดาวโหลดเอกสาร ได้ที่ https://shorturl.at/ghqO5 

 

เกี่ยวกับโครงการ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane)

 

โครงการ “ความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ” หรือ Social, Health, Environment, Economics, Partnership for Sustainable Sugarcane (SHEEP for Sustainable Sugarcane) เป็นการผสานความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย สมาคมเกษตรปลอดภัย บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด และบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด เพื่อดำเนินงานทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบริหารจัดการทั้งระดับฟาร์มและโรงงานที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล พร้อมยกระดับสู่สากลในมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่ 

1) ด้านสังคม (S-Social) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯมีความสุข 

2) ด้านสุขภาพ (H-Health) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี 

3) ด้านสิ่งแวดล้อม (E-Environment) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

4) ด้านเศรษฐกิจ (E-Economics) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ มีความเป็นอยู่ที่ดี 

5) ด้านพันธมิตร (P-Partnership) ทุกคนในภาคอุตสาหกรรมฯ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย 

อาคารอุตสาหกรรมเกษตร 3 ชั้น 4 ห้อง 3410 คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โทรศัพท์ 0-2562-5000 ต่อ 5343