สมาคมธนาคารไทย ชี้ผลกระทบโควิด-19 อาจสูงกว่า 1.3 ล้านล้านบาท เชื่อมาตรการรัฐช่วยลดผลกระทบ จำกัดการหดตัวทางเศรษฐกิจ

0
1630

สมาคมธนาคารไทย มองมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมาเร็ว จัดใหญ่ จัดเต็ม เป็นยาดีช่วยลดผลกระทบวิกฤตโควิ-19 ชี้เร่งช่วยด้านสาธารณสุข อาชีพและปากท้อง เสถียรภาพเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน หากสถานการณ์สงบเร็วกระทบจีดีพี 7.7% หากยืดเยื้อความเสียหายอาจรุนแรงขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้เอกชน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจ ธปท.ออกซอฟท์โลน (Soft Loan) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ พรก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ตลอดจน พรก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งรวมแล้วคือ มาตรการเยียวยาระยะที่ 3 ที่มีวงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่ามีทั้ง ‘ความสำคัญ’ และ ‘ความจำเป็นอย่างยิ่ง’ ทั้งนี้ หากมองผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของไวรัสฯ ในรอบนี้ สามารถประเมินเบื้องต้นเป็นเม็ดเงินสุทธิราว 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.7% ของจีดีพี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวรายได้หายไปถึง 1.1 ล้านล้านบาท อันทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวลึกใกล้เคียงกับปี 2540 และอาจจะลึกกว่านั้น หากการระบาดไม่สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ อันจะทำให้ผลกระทบในเชิงตัวเงินใหญ่ขึ้นอีกจนอาจจะแย่กว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

อย่างไรก็ตามจุดแตกต่างที่สำคัญระหว่างวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 กับวิกฤตปี 2540 คือ ในรอบนี้ ทางการไทยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ ‘เร็ว’ และมี ‘ขนาดใหญ่’ เพื่อยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ทรุดลงแรงกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งสิ่งที่ต้องจัดการเป็นลำดับแรกๆ คือ การจัดการด้านสาธารณะสุขเพื่อยับยั้งการระบาดของโรคและดูแลผู้ป่วยในวงที่กว้างขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องอาชีพและปากท้องของประชาชน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ มาตรการด้านการคลังจะเข้ามาเป็นกลไกหลัก ทำให้การอนุมัติ พรก.กู้เงินฯ เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องเร่งทำ เพื่อดึงงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ มาเป็นทรัพยากรเพิ่มเติมสำหรับตอบวัตถุประสงค์ข้างต้น หลังจากที่งบกลางเดิมได้จัดสรรไปหมดแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง การดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจตลาดการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะปัจจุบันตลาดการเงินไทยเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้นกว่าในปี 2540 มาก ทำให้ความตื่นตระหนก ไม่ว่าจะจากทั้งในและต่างประเทศ ก็สามารถฉุดให้อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนในตลาดการเงินปรับตัวแรง จนกระทบความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนสถานะทางการเงินลูกค้าธุรกิจและครัวเรือนได้ โดยการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจและตลาดการเงินนี้ ถือเป็นหน้าที่ของมาตรการด้านการเงิน ซึ่งควรเร่งอุดรูรั่วและเร่งสร้างความเชื่อมั่นของตลาดก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น มาตรการ 9 แสนล้านบาทในรอบนี้ จึงจำเป็นต้องพุ่งเป้าหมายไปที่การจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนที่มีขนาดใหญ่ราว 22% ของจีดีพี ซึ่งจะช่วยทั้งตัวกิจการที่ต้องการระดมทุนไปชำระคืนหนี้เดิมและเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ รวมถึงช่วยผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าในระยะหลัง ผู้ฝากเงินรายย่อยหันมาออมเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมในตราสารหนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ยังประกอบด้วยมาตรการช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ที่ครอบคลุมกว่า 99% ของจำนวนกิจการทั้งหมด และการจ้างงานกว่า 85% ของการจ้างงานทั้งประเทศ หรือกว่า 13 ล้านคน ผ่านการให้ซอฟท์โลนเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแบบอัตโนมัติ ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็คาดหวังว่าการต่อลมหายใจทางธุรกิจ จะช่วยพยุงจ้างงานและกลไกของห่วงโซ่ธุรกิจบางส่วนให้พอเดินต่อไปได้ ในระหว่างที่ทุกคนรวมพลังอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ

“ผมเชื่อมั่นว่า การดำเนินการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังของภาครัฐ น่าจะทำให้การหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในขอบเขตจำกัด และไม่น่าจะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าในที่สุดแล้ว สถานการณ์ต่าง ๆ จะยังคงขึ้นอยู่กับว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะยุติลงเมื่อใด แต่ก็เชื่อว่า หากมีความจำเป็น ทางการไทยยังมีทรัพยากรอีกมากเพียงพอที่จะประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน” นายปรีดี กล่าวในตอนท้าย