สมาคมการตลาดฯระดมกว่า 55 CMO และผู้บริหารระดับสูงของไทย ร่วมระดมสมองออนไลน์ Unlock the Lockdown… แนะ 10 Re ช่วยนักการตลาดสู้โควิด

0
1425

จากวิกฤติการณ์โควิด-19 ระลอกสามนี้ องค์กร เจ้าของธุรกิจ นักการตลาด รวมถึงบุคคลทั่วไปต่างต้องปรับตัวและหาวิธีในการรับมือกับสถานการณ์  ในโอกาสครบรอบ 55 ปี สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ระดมกว่า 55 CMO (Chief Marketing Officer) และผู้บริหารระดับสูง ร่วมเสวนาสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “Unlock the Lockdown… นักการตลาดทำอะไรกันดี?!!” เพื่อร่วมพูดคุย ปลดล็อค แบ่งปันการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมถึงแนะนำวิธีการ ไอเดียในการทำการตลาดใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 

ในวันงาน นายอนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดฯ ได้กล่าวว่า “MAT CMO Council  มีจุดประสงค์ในการสร้างเครือข่ายของผู้บริหารระดับสูงและนักการตลาดระดับแนวหน้าของประเทศ เพื่อต่อยอดประสบการณ์และเสริมพลังด้านการตลาดของประเทศไทย โดยจำนวนสมาชิก MAT CMO Council นี้ ได้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นถึงกว่า 100 ท่าน และเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถจัดงานแบบปกติ Face-to-Face ได้ จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนา Exclusive Online Forum ในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้ร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ พร้อมส่งต่อคำแนะนำให้กับภาคธุรกิจอื่นๆ และยังเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันความยากลำบากในวิกฤติการณ์ครั้งนี้”  ทางสมาคมฯได้รับเกียรติจาก ดร.สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ คุณสุภาวดี ตันติยานนท์ และผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล มาร่วมดำเนินรายการชวนผู้ร่วมงานพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ภายใต้ 2 หัวข้อ คือ

  • WHAT – อุปสรรค Key Challenge และ Key Learning ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ทางสมาคมฯได้ส่งแบบสอบถามไปให้ CMO และผู้บริหาร รวมถึงสมาชิกของสมาคมฯเอง พบว่าในส่วนของ CMO และผู้บริหารนั้น เกือบทุกองค์กรต้องมีการปรับแผนธุรกิจใหม่ มีการทำ Digital Transformation เน้นออนไลน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการรักษา Team Spirit และ Reskill บุคลากรในองค์กร ในส่วนของสมาชิก พบว่ามีความกังวลในเรื่องของสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน กำลังซื้อในตลาดที่ลดลง รวมถึงความรู้ที่คิดว่าต้องพัฒนาต่อไป

ดร.ดั่งใจถวิล อนันตชัย COO & MD บริษัท อินเทจ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จาก Consumer เป็น Prosumer มีตัวเลือกเยอะ มีความระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้นเพราะความไม่แน่นอนในสถานการณ์โควิด-19 การเลือกแบรนด์นอกจากเรื่องประโยชน์ของตัวสินค้า ยังเลือกแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นยุคของ Responsible Marketing ที่ไม่ควร Focus เพียงนึกถึงผู้บริโภคว่าเป็น Customer ที่เราจะขายของให้เขาซื้อเราเท่านั้น แต่ต้องนึกถึงเขาในมุม Human Centric ว่าแบรนด์เราจะแก้ปัญหา Pain Point เขาอย่างไร ช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น รู้สึกดีขึ้นต่อตัวเองอย่างไร และสิ่งที่เราทำมีผลกระทบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรด้วย

ในช่วงระยะเวลาที่ล็อกดาวน์และนักท่องเที่ยวหดหายนี้ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อห้างสรรพสินค้า ช็อปปิ้งมอลล์ต่างๆ คุณวิศาล สิปิยารักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายบริหารพื้นที่เช่าและผู้เช่าสัมพันธ์ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) นอกเหนือจากมาตรการลดค่าเช่าแล้ว ยังได้มีการช่วยเหลือผู้เช่าโดยการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ร้านค้าภายในศูนย์ฯได้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ผ่านช่องทางของเอ็ม บี เค อาทิ การนำเสนอแคตตาล็อกสินค้าในเว็บไซต์เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ การไลฟ์สดขายสินค้าทุกวันพุธผ่านเฟซบุ๊ก MBK Live Market และ การนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในลาซาด้า มีการนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์แบบลงลึกเพื่อทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (Personalized Marketing) ปรับกลยุทธ์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าคนไทยมากยิ่งขึ้น และยังมีการทำ CSR ร่วมกับภาครัฐให้การสนับสนุนพื้นที่ในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มอบน้ำดื่ม MBK และหน้ากากอนามัย จัดทำกิจกรรมเพื่อสังคมในโครงการ PLUS TOGETHER พอยท์ต่อชีวิต เชิญชวนสมาชิกแอปพลิเคชัน เอ็ม บี เค พลัส ร่วมแบ่งปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19 ด้วยการบริจาคคะแนน เอ็ม บี เค พอยท์ เปลี่ยนเป็นเงินบริจาค โดย MBK PLUS ร่วมสมทบทุนให้อีกเท่าตัว เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์มอบให้โรงพยาบาลกลาง ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 

ในมุมของการสื่อสารและคมนาคม คุณพงษกรณ์ คอวนิช หัวหน้าส่วนงานการตลาดด้านผลิตภัณฑ์และลูกค้าโพสต์เพด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ได้ร่วมแชร์ว่าทางบริษัทฯ ได้เฟ้นหาบริการและข้อเสนอที่เติมเต็มและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่วงล็อคดาวน์และ WFH นี้ เช่น เพิ่มประกันสุขภาพโควิด-19 การนำเอาช่อง Disney + Hotstar เข้ามาเสริมในส่วนของบันเทิง และการนำเสนอเบอร์มงคลที่เน้นในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาฐานลูกค้าปัจจุบันได้ และยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆเพิ่ม นอกจากนี้ พนักงานขายที่ช็อปต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีช่องทางขายให้ลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้นทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อให้การขายไม่หยุดชะงัก

  • HOW – กลยุทธ์ในการปรับตัวในสถานการณ์โควิดปัจจุบัน Survival Strategy การเปิดใจยอมรับ รวมถึงการแชร์เคล็ดลับทำการตลาดในช่วงโควิด-19 ให้ธุรกิจไม่สะดุด 

ร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คุณนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บจก.เอส แอล อาร์ ที จำกัด กล่าวว่าว่าสำหรับปีนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากร้านส่วนใหญ่อยู่ในห้าง ทีมงานได้กลับไปคิดและปรับกระบวนการใหม่ แปลงข้อจำกัดเป็นโอกาส ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ มีการทดลอง เรียนรู้ และปรับเปลี่ยน จึงเป็นที่มาของ Cloud Kitchen ที่เป็นการผนึกกำลังของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Sizzler Bon Chon Swensen’s หรือ Dairy Queen ผ่านครัวของ The Pizza Company

ในมุมของ Digital CRM หรือ Loyalty Program น้ัน คุณณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด กล่าวว่าได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร มีการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ SME ในการนำสินค้าขึ้นขายใน Marketplace บนแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนำต่างๆ พร้อมช่วยทำการตลาดให้ และอีกบริการคือการกระโดดเข้ามาทำ Food Delivery  ให้กับแบรนด์มีช่องทางโดยตรง เพื่อได้มีฐาน Database เป็นของตัวเอง และเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังปรับเปลี่ยนสิทธิพิเศษเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงโควิด-19 มากยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่ว่า ‘ทุกที่มีโอกาส เมื่อคิดแล้วให้ลงมือทำทันที และเราไม่จำเป็นต้องสร้างโอกาสจากเค้กก้อนเดิมเสมอไป’

คุณเพชร พะเนียงเวทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เล่าว่ามีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาด จากเดิมที่ส่วนแบ่งการตลาดและอัตราการเติบโตของมาม่าแบบคัพจะมากกว่าแบบซอง แต่เมื่อเกิดโควิด-19 สัดส่วนการขายและอัตราการเติบโตของมาม่าแบบซองเริ่มมากกว่าแบบคัพ จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์ อีกทั้งการขายที่จากเดิมใช้พนักงานขาย ก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการขายแบบออนไลน์แทน ดังนั้น ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เร็ว

สำหรับธุรกิจ B2B นั้น คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมแชร์ว่าตอนนี้ทุกคนกำลังประสบอยู่กับ Pandemic Crisis อย่างไรก็ดี ไม่ว่า Crisis ใดก็ต้องมีวันจบ เราจะบริหารองค์กรให้ก้าวข้ามผ่าน Crisis ในสภาพไหน สิ่งที่สำคัญ คือ การใส่ใจและให้ความมั่นใจแก่กลุ่มลูกค้า ดูแลบุคลากรให้มีขวัญและกำลังใจ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง คุณวิชาญแนะนำว่า Cash is King ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลงทุนในสิ่งที่สำคัญสำหรับอนาคต ปรับ Mindset เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ “Never Normal” 

ในส่วนของภาคเกษตรนั้น คุณพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าว่าช่วงโควิด-19 มีกลุ่ม Young Smart Farmer ที่นำวิธีการทำ Smart Farming เข้ามาใช้ เกษตรกรมีการใช้งานออนไลน์เพิ่มจากเดิม 9% เป็น 70% โดยทางคูโบต้าเอง ก็มีการปรับตัวในเรื่องของกิจกรรมทางการตลาดและ Transition จาก On-ground มาเป็นออนไลน์มากขึ้น มีการพัฒนา Mobile Application และเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรโดยได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดี

สำหรับฝั่งรัฐวิสาหกิจ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ จากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนหันมาทำธุรกิจออนไลน์มากยิ่งขึ้น จากแสนร้านค้าเป็นล้านร้านค้า ทางไปรษณีย์ไทยมองว่าระบบขนส่งและระบบหลังบ้านที่ดีจะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเหล่านี้ และพร้อมตอกย้ำหน้าที่และ Commitment โดยเน้นความเป็น Companionship กับคนไทย และในอนาคตอันใกล้นี้ ทางไปรษณีย์ไทยจะมีการ Collaborate กับพันธมิตรอื่นๆเพื่อขยับขยายและมอบการบริการที่ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมมากกว่าเดิม

จากการร่วมพูดคุย การได้มุมมอง กลยุทธ์ ข้อคิดต่างๆจาก CMO และผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดนั้น ก่อให้เกิดข้อสรุปทั้งสิ้น 10 Re อันได้แก่

  • Responsible Marketing เล็งเห็นถึงความสำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน
  • Rethink เปิดใจให้กว้าง ปรับเปลี่ยนวิธีคิด
  • Retarget ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อขยายฐานลูกค้าและหากลุ่มลูกค้าใหม่
  • Reconnect ใส่ใจในฐานลูกค้าเดิม หาวิธีเพื่อดึงลูกค้าเก่าให้กลับมา
  • Resources เสริมสร้างและพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากร
  • Rescale ปรับแผนให้ง่ายขึ้นและมีความคล่องตัวมากขึ้น
  • Restructure ทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ
  • Reshape the Future วางกลยุทธ์สำหรับอนาคต
  • Reform ศึกษา Consumer Behaviour เพื่อปฎิรูปและหาหนทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์
  • Relieve บรรเทาปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้นในสังคม

พร้อมกันนี้ คุณจักรพล จันทวิมล กรรมการสมาคมการตลาดฯ และผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้นำเสนอโครงการ HELP Marketing ประกอบด้วย 4H คือ

  • Head: ค้นหาผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้แนวคิดการตลาดใหม่ๆ มีไอเดียดีๆ สามารถสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มยอดขายในช่วงโควิด-19 นี้
  • Hand: ประชาสัมพันธ์ร้านเพื่อเป็นกรณีศึกษา พร้อมอุดหนุนสินค้าและส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์นี้
  • Heart: เป็นโครงการที่สนับสนุนโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยและสมาชิก MAT CMO Council
  • Hope: ใช้วิถี “การตลาด” อันเป็นหนึ่งในความหวังของประเทศ

โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมศาสตร์ทางด้านการตลาด อีกทั้งยังเป็นการให้กำลังใจและช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 นี้ โดยเบื้องต้น ทางสมาคมฯ ได้มอบเงินตั้งต้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 50,000 บาท ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสมาชิกของ MAT CMO Council ท่านที่ต้องการร่วมกิจกรรมนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย คุณจันทร์เพ็ญ โทร. 095-952-4453, 02-679-7360-3 หรือ Line ID: @matsociety