สธ.เฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์ย่อย “โอมิครอน” ย้ำวัคซีนช่วยเสริมภูมิตามธรรมชาติลดเสี่ยงติดเชื้อ

0
1245

กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์ย่อย “โอมิครอน” หลังพบข้อสังเกตในต่างประเทศ มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น เน้นกลุ่มเดินทางจากต่างประเทศและผู้ป่วยอาการหนัก ขณะนี้พบเพียง BA.5 จำนวน 1 ราย ยังไม่พบ BA.4 และ BA.2.12.1 ย้ำภูมิธรรมชาติไม่พอป้องกัน ต้องฉีดวัคซีนร่วมด้วย ยังไม่พบสายพันธุ์ลูกผสมจากประเทศไทยใน GISAID

ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้โควิด 19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 100% จากการตรวจเฝ้าระวังช่วงวันที่ 30 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2565 จำนวน 747 ราย พบเป็นโอมิครอนทั้งหมด ไม่พบสายพันธุ์อื่นๆ โดยสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนเป็น BA.2 ถึง 97.6% ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกมีการเฝ้าระวัง 3 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน คือ BA.4 , BA.5 ซึ่งส่วนใหญ่พบในแถบแอฟริกาใต้และยุโรปบางประเทศ และ BA.2.12.1 ส่วนใหญ่พบในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น หรืออาจจะรุนแรงขึ้น

“ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ โดยให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง ตรวจเฝ้าระวัง เน้นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และผู้ป่วยอาการหนัก โดยใช้วิธีการตรวจเฉพาะจุดหรือ SNP เนื่องจากตำแหน่งเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน คือ หากพบ L452R ร่วมกับ del69/70 เป็น BA.4 และ BA.5 หากเป็น L452Q จะเป็น BA.2.12.1 ซึ่งประเทศไทยพบเพียง BA.5 จำนวน 1 ราย เป็นคนบราซิล ขณะนี้รักษาหายกลับบ้านแล้ว ส่วน BA.4 และ BA.2.12.1 ยังไม่พบในประเทศไทย แต่พบ BA.2.12 จำนวน 2 ราย เป็นชาวอินเดียและแคนาดา” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม L452R เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา แต่เร็วเกินไปที่จะสรุปว่ามีความรุนแรงเท่าเดลตา ยังต้องดูข้อมูลต่อไป ส่วนเรื่องของภูมิคุ้มกัน มีรายงานจากแอฟริกาใต้ว่า เมื่อติดเชื้อด้วย BA.1 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่สามารถกัน BA.2 ได้ จึงไม่สามารถกัน BA.4 และ BA.5 ได้เช่นกัน แต่หากติดเชื้อ BA.1 และรับวัคซีนมาก่อน ภูมิคุ้มกันจะลดลงไม่มาก จะช่วยป้องกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากขึ้น ดังนั้น การฉีดวัคซีนด้วยจะดีกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และวัคซีนยังช่วยป้องกันได้ทุกสายพันธุ์

สำหรับสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริดที่ประเทศไทยส่งตัวอย่างไปยังฐานข้อมูลกลางโลก GISAID ยังไม่พบว่าเข้าได้กับสายพันธุ์ลูกผสมตัวใด ส่วนการตรวจด้วยเครื่องอัตโนมัติขั้นต้นในการบ่งบอกสายพันธุ์ ขณะนี้มี 12 ตัวอย่าง เข้าได้กับ XM 8 ตัวอย่าง XN 3 ตัวอย่าง และ XE 1 ตัวอย่าง แต่ต้องรอ GISAID วิเคราะห์ว่าใช่หรือไม่ ทั้งนี้สายพันธุ์ลูกผสมในไทยไม่น่ากังวล เพราะสายพันธุ์เดลตาหายไปเกือบหมด จึงไม่น่าจะเกิดไฮบริด ยกเว้นสายพันธุ์ลูกผสมที่พบจะมีการขยายพันธุ์