สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานนิทรรศการ“วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน”ระหว่างวันที่ 22 – 27 มีนาคม ศกนี้

0
1905

   ด้วยวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศไทย โดยมีสถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติเป็นหนึ่งในสถาบันภายใน โดยมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงและอนุรักษ์ศิลปวัตถุที่สำคัญตั้งแต่ศิลปะไทยประเพณี ศิลปะร่วมสมัย และศิลปะท้องถิ่น เป็นสถาบันที่ส่งเสริมศิลปะแนวใหม่และศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและระดับโลก เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะแบบครบวงจรตั้งแต่วัยแบเบาะถึงวัยสูงอายุ และเป็นสถาบันที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อันนำไปสู่การสรรสร้างนวัตกรรมที่จับต้องได้จากองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์

    นิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแผนงานโครงการวิจัยการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดขึ้นเพื่อนำเสนอวิถีความศรัทธาของ
พุทธศาสนาในภาคอีสาน ผ่านศิลปวัตถุทางศาสนาที่สำคัญของภาคอีสาน ได้แก่ พระไม้ กับ ฮูปแต้ม  เพื่อเผยแพร่ศิลปะท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และเป็นต้นแบบให้กับนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22– 27 มีนาคม 2565 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    โดย พระพุทธรูปไม้ หรือที่นิยมเรียกโดยย่อว่า “พระไม้” หมายถึงพระพุทธรูปไม้ขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายตุ๊กตา แกะสลักโดยช่างชาวบ้านแบบหยาบ ๆ ไม่อ่อนช้อย พระไม้เป็นศิลปวัตถุและงานช่างฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัฒนธรรมอีสาน อีกทั้งยังสะท้อนความเป็นมาของวิถีชีวิต ประเพณี ภูมิปัญญา และคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ โดยพระไม้จัดเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของช่างคนนั้น เป็นชิ้นงานที่ผสานความศรัทธา ความมุมานะ เพื่อเป็นพุทธบูชาแก่ตน ในการสร้างวัตถุสำหรับสักการะให้แก่ผู้คนทั่วไป งานฝีมือเหล่านี้กลับเลือนหายไปจากภาคอีสาน เนื่องด้วยศาสนามีบทบาทในวิถีชีวิตของผู้คนลดน้อยลง ส่งผลให้มีผู้สืบทอดงานฝีมือนี้น้อยลงตาม อีกทั้งวัดบางแห่งที่เก็บพระไม้ก็ไม่บำรุงรักษา ปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จึงส่งผลให้พระไม้ไม่เป็นที่รับรู้ของผู้คนในยุคปัจจุบัน 

    “ฮูปแต้ม” หรือรูปแต้ม หมายถึงจิตรกรรมฝาผนังของวัฒนธรรมอีสาน เป็นการแสดงออกถึงศรัทธาในพุทธศาสนาของ “ช่างแต้ม” หรือจิตรกรผู้วาดฮูปแต้ม แม้ว่าเนื้อหาในฮูปแต้มจะถ่ายทอดเรื่องราวทางพุทธศาสนาเหมือนกับจิตรกรรมฝาผนังในภาคอื่น แต่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮูปแต้มที่แตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังอื่น ๆ คือการบอกเล่าเรื่องราววรรณกรรมท้องถิ่นของอีสาน โดยเฉพาะ สินไซ อีกทั้งยังมี “ภาพกาก” หรือภาพจิตรกรรมแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวอีสานที่ช่างแต้มวาดออกมาไม่ได้ประณีตนัก ลักษณะเหล่านี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคมอีสาน และควรค่าแก่การอนุรักษ์ เนื่องจากจิตรกรวาดภาพฝาผนังในปัจจุบัน วาดภาพในแนวไทยประเพณีแบบภาคกลาง หรือแบบร่วมสมัยมากขึ้น

    จากการที่ศิลปะทั้งสองแบบนี้เป็นอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นในภาคอีสาน จึงถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สำคัญ และสมควรได้รับการสนับสนุนเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้เลือนหาย รวมถึงเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงเกิดเป็นงานนิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเพื่อสืบทอดงานฝีมืออันล้ำค่านี้ไม่ให้เลือนหายไป อีกทั้งนิทรรศการดังกล่าวยังเป็นต้นแบบสำหรับนิทรรศการผลงานศิลปะท้องถิ่นที่จะนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติต่อไป

    นิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน”  นอกจากเผยแพร่ความรู้ศิลปะการทำพระไม้ และการวาดฮูปแต้ม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเอกลักษณ์ของภาคอีสาน ยังมีการจัดเสวนาที่เกี่ยวข้องกับพระไม้เพื่อให้เข้ากับบริบทในปัจจุบัน โดยจะประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรมได้แก่:

    กิจกรรมหลักที่ 1. นิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ได้นำพระไม้ที่จัดเก็บในหอพุทธศิลป์ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึง พระไม้ที่สำคัญจากจังหวัดอื่น ๆ และจำลองฮูปแต้มที่สำคัญในวัดต่าง ๆ ของภาคอีสานมาจัดแสดง  เพื่อนำเสนอประวัติการสร้างสรรค์งานฝีมือที่สำคัญของภาคอีสาน ผ่าน พระพุทธรูปไม้ และฮูปแต้มในยุคสมัยต่าง ๆ  บอกเล่าถึงลักษณะของศิลปะอีสานในแต่ละยุค พร้อมกับนำเสนอความสำคัญของพระไม้และฮูปแต้มที่มีต่อสังคมอีสานในหลากหลายแง่มุม อีกทั้งนำผลงานของช่างฝีมือพระไม้และฮูปแต้มในปัจจุบันมาจัดแสดงเพื่อให้ศิลปินเป็นที่รู้จักมากขึ้นถือเป็นการสืบทอดผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ให้คงอยู่ พร้อมการนำเสนอผลงานฮูปแต้มร่วมสมัยที่เป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นโดย ผศ. ตนุพล เอนอ่อน

    กิจกรรมหลักที่ 2. การเสวนาในหัวข้อ “ความเชื่อท้องถิ่น: การอนุรักษ์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาพูดคุยเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อท้องถิ่นสามารถนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์การออกแบบหรือประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเสริมสร้างชุมชนท้องถิ่นและประเทศอีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “วิถีศรัทธาอีสาน : มรดกวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน” ได้ในระหว่างวันที่ 22-27 มีนาคม2565 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น