ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ 2564

0
1399

  ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและการเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า น้ำตาลทรายดิบ และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2564  โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,104 – 12,276 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.09 – 4.55 เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งขัน ทำให้ประเทศคู่ค้ามีการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยมากขึ้น  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 11,073 – 11,721 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.95 – 10.04 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงและมีความต้องการใช้ข้าวเหนียวเพื่อทำขนมไหว้เจ้าเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.15 – 8.19 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 1.00 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ยังขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 53.85 – 54.15 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.94 – 1.50 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำยางพาราข้นเพื่อนำไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอนและเกิดการกลายพันธุ์ ขณะที่ปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ และราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น  

มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.03-2.08 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 – 2.97 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนด้านความต้องการของโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และมาตรการส่งเสริมการใช้เอทานอลภายในประเทศที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น  ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.80 – 6.95 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.57 – 2.72 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับการคาดการณ์ว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่จะเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานทดแทน (ไบดีเซล) ในภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น  และสุกร ราคาอยู่ที่ 76.39-77.03 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.95 – 2.80 เนื่องจากการเข้าสู่เทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมีการประกาศจากภาครัฐเรื่องเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังปิดการเรียนชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,827 – 8,856 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.28 – 1.72 เนื่องจากปัญหาการล็อกดาวน์ของท่าเรือในประเทศคู่ค้าบางประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อใช้การส่งออกข้าวทางเรือ ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีการปรับแผนการซื้อข้าวเท่าที่จำเป็น  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก  ราคาอยู่ที่ 15.87 – 16.12 เซนต์/ปอนด์ (10.51 – 10.68 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.00 – 3.50 เนื่องจากคาดการณ์ว่าค่าเงินเรียลของประเทศบราซิลจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาล  ในประเทศบราซิลส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้น และยังมีความกังวลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรก ที่อาจจะทำให้การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกลดลง 2 – 3 ล้านตัน ส่งผลให้นักลงทุนและนักเก็งกำไร  ทำการขายตั๋วซื้อน้ำตาล  และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 132.15 – 136.15 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.79 – 7.59 เนื่องจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ความต้องการในประเทศยังคงชะลอตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซา ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ประชาชนจับจ่ายซื้อของโดยเฉพาะไก่สดและเนื้อหมู ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งลดลง