ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนสิงหาคม 2565

0
1048

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยราคาสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ เทศกาลวันแม่แห่งชาติ ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารกลับมาคึกคัก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง สุกร กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ ส่วนสินค้าเกษตรที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ และปาล์มน้ำมัน

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนสิงหาคม 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 13,885 – 13,991 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.90 – 1.67 เพราะสต็อกข้าวหอมมะลิของผู้ประกอบการข้าวบรรจุถุงภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม ได้รับแรงกดดันจากความต้องการข้าวหอมมะลิของสหรัฐอเมริกาที่ลดลง ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นไม่มากนัก มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.74 – 2.84 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.11 – 4.80 เนื่องจากความต้องการใช้มันสำปะหลังทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยประมาณร้อยละ 3.20 ของผลผลิตทั้งปี 2564/65 สุกร ราคาอยู่ที่ 103.14 – 104.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.14 – 1.35 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ อาทิ ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงเรียนและสถานศึกษา กลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นจาก ค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/กก.) คาดว่า ราคาอยู่ที่ 151.28 – 152.13 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.85 – 1.42 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้กุ้งมีโอกาสเกิดโรคเพิ่มขึ้น อาทิ โรคตัวแดงดวงขาว โรค หัวเหลือง ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งลดลง ขณะที่การบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว มาตรการส่งเสริม การท่องเที่ยวในประเทศและการเปิดประเทศเต็มรูปแบบรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระตุ้นให้มีการเดินทางท่องเที่ยวและมีความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 100.20 – 100.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.65 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และเข้าสู่เทศกาลวันแม่แห่งชาติ ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคเนื้อโคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,843 – 8,919 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.63 – 2.46 เนื่องจากอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2 คาดว่า ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ประกอบกับการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกข้าวในตลาดโลกรุนแรงขึ้น จึงกดดันราคาข้าวขาวในตลาดโลก ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,834 – 9,079 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.98 – 3.65 เนื่องจากเวียดนามมีนโยบายการส่งออกข้าวเหนียวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดโลกสูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 10.11 – 10.39 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.17 – 2.89 เนื่องจากข้อตกลงส่งออกธัญพืชระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าข้าวสาลีและข้าวโพดในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้เพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ผู้ประกอบการอาจชะลอการนำเข้าข้าวสาลีส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศปรับตัวลดลงไม่มากนัก น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 17.73 – 17.79 เซนต์/ปอนด์ (14.35 – 14.40 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.55 – 0.88 เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่คาดว่า จะปรับตัวลดลงและการประกาศลดราคาน้ำมันภายในประเทศบราซิล ทำให้ราคาเอทานอลลดลง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลปรับเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล ประกอบกับความกังวลเรื่องการอนุมัติการส่งออกเพิ่มเติมจากอินเดียอีก 1.2 ล้านตัน ส่งผลให้มีอุปทานน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายประเทศเป็นปัจจัยกดดันต่อการบริโภคน้ำตาล ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 56.04 – 56.23 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.53 – 0.87 เนื่องจากราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลง จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของโลก มีมาตรการเข้มงวดควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้จีนมีชะลอการนำเข้ายางพาราจากไทย อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมาก จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกยางพาราของไทย ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.74 – 6.99 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.13 – 4.66 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) แก้ไขมาตรการคว่ำบาตรด้านการส่งออกน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย บริษัทจำหน่ายพลังงาน รายใหญ่ของรัสเซีย ได้แก่ Rosneft และ Gazprom สามารถส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติไปประเทศที่สามได้ ส่งผลต่อความต้องการปาล์มน้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลและราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง