ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2564

0
1440

     ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ สถานการณ์อุทกภัยที่คลี่คลายแล้ว การจับจ่ายภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน และ โคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2564  โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,736 – 7,944 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.44 – 3.14 เนื่องจากราคาข้าวขาวของประเทศไทยในตลาดโลกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้เป็นอย่างดี ประกอบกับความต้องการของประเทศผู้นำเข้าในแถบทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย และตะวันออกกลาง ยังมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปี  ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,750 – 9,768 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.91 – 4.10 เพราะประเทศฮ่องกงซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของประเทศไทยเร่งนำเข้าข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่เพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 8.76 – 8.85 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 – 1.60 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคและส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับสัญญาข้าวสาลีส่งมอบเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้น 3.5 เซนต์ หรือร้อยละ 0.42 จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความต้องการสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มขึ้น 

ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 52.61 – 54.53 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.93 – 5.66 เนื่องจากปริมาณฝนโดยรวมของทั้งประเทศไทยจะกลับมาใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 ส่งผลต่อการกรีดยางพารา ทำให้ยางพาราออกสู่ตลาดลดลง รวมถึงมีการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส หลังจากที่เคยระบาดเป็นพื้นที่วงกว้างในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย  มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.22 – 2.32 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.78 – 7.41 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลัง ปี 2564/65 ผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มาก ขณะที่ลานมันสามารถกลับมาดำเนินการซื้อขายได้ตามปกติ หลังจากปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับความต้องการใช้มันสำปะหลังของจีนยังสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น  สุกร ราคาอยู่ที่ 72.82 – 73.38 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.36 – 1.13 เนื่องจากความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่และวันหยุดยาว รวมไปถึงเริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น  และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 149.64 – 157.47 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.20 – 8.60 เนื่องจากความต้องการบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ประกอบกับผลผลิตกุ้งบางพื้นที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และต้นทุนค่าอาหารกุ้งที่สูงขึ้น จากบริษัทผู้ผลิตอาหารกุ้งจะปรับราคาอาหารกุ้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 – 5 จากราคาวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงกุ้งลง

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 7,263 – 7,395  บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.75 – 2.52 เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมามากเกินความต้องการใช้ข้าวเหนียว เพื่อการบริโภคภายในครัวเรือนและแปรรูปภายในประเทศ  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 19.20 – 19.87 เซนต์/ปอนด์ (13.99 – 14.49 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.20 – 4.52 เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลง จากประเทศผู้ใช้น้ำมันหลักระบายน้ำมันออกจากคลังสำรอง ส่งผลให้ความต้องการเอทานอลปรับตัวลดลงตามไปด้วย จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการของประเทศบราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนที่อาจทำให้ราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นได้จากความต้องการนำเข้าของหลายประเทศ เพราะปริมาณน้ำตาลของประเทศผู้บริโภคเริ่มลดลงและค่าระวางเรือที่มีการปรับลดลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำตาลลดลง  ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.88 – 8.38 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.90 – 9.63 เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงสกัดตรึงราคาน้ำมันปาล์มดิบเนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหาร และผู้บริโภคในครัวเรือนที่ได้ผลกระทบหลัก และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.50 – 95.00 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.23 – 0.76 เนื่องจากรูปแบบการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปหลังจากโควิด-19 โดยลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน ประกอบกับมาตรการนำเข้าโคเนื้อที่ยังคงเข้มงวดของประเทศจีน จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกโคเนื้อของไทย จึงเป็นปัจจัยกดดันราคาโคเนื้อให้ปรับลดลง.