ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงและการผ่อนคลายมาตรการ ล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ รวมถึงความต้องการของประเทศคู่ค้า ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนกันยายน 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ สุกร และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,075 – 10,465 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.42 – 5.35 เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดจากสต็อกข้าวของผู้ประกอบการที่ลดลง ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 49.00 – 52.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.31 – 6.45 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณยางพาราในประเทศที่ออกสู่ตลาดลดลง การขาดแคลนแรงงานกรีดยางพารา และภาวะฝนตกชุกในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และความต้องการในประเทศคู่ค้าที่เติบโตตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน อย่างไรก็ตาม สต็อกยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยกดดันราคายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.01 – 2.05 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 2.50 เนื่องจากปริมาณผลผลิตปรับตัวลดลงเพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.78 – 7.37 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.04 – 9.80 เนื่องจากนโยบายภาครัฐขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 และราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบของตลาดประเทศมาเลเซียสูงขึ้น และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 126 – 127 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.80 – 1.50 เนื่องจากคาดว่าจะเริ่มมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ทำให้ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการและสามารถเดินทางได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณกุ้งลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรลดจำนวนและเลื่อนเวลาการปล่อยลูกกุ้ง
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,211 – 7,405 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.36 – 4.01 เนื่องจากการปรับลดราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ อาทิ ประเทศอินเดีย และประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลก และส่งผลกดดันให้ราคาส่งออกข้าวลดลง ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,114 – 9,311 บาท/ตันลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.69 – 3.77 เนื่องจากมีการคาดการณ์ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีจะมีปริมาณมากกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคมีเท่าเดิม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.60 – 7.69 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.40 – 1.50 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว คาดว่าปริมาณผลผลิตในเดือนนี้จะออกสู่ตลาดประมาณร้อยละ 17.53 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นไม่มากจากการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสัญญาส่งมอบถั่วเหลืองปรับตัวลดลง
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 19.49 – 19.69 เซนต์/ปอนด์ (14.11 – 14.25 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 1.50 เนื่องจากมีความชัดเจนว่าประเทศอินเดียจะดำเนินนโยบายอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลซึ่งส่งผลกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลก ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันในเดือนกันยายนที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการเอทานอลปรับลดลง อาจกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของประเทศบราซิลเพิ่มการผลิตน้ำตาลมากกว่าเอทานอล ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สุกร ราคาอยู่ที่ 67.26 – 67.98 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.32 – 3.31 เนื่องจากโรงฆ่าสุกรบางพื้นที่ถูกระงับการดำเนินงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีสุกรเหลือสะสมในฟาร์มสุกรจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการบริโภค และส่งผลให้ราคาสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้น และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.50 – 95.10 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.58 เนื่องจากจำนวนโคเนื้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการบริโภคที่ลดลง ส่งผลกดดันราคาซื้อขายโคเนื้อภายในประเทศปรับตัวลดลง