FOMC วันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย. 2566 เพื่อรอดูแนวโน้มเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยแม้ว่าเงินเฟ้อจะยังคงสูงกว่าเป้าหมายและตลาดแรงงานยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามเงินออมที่ลดลงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังเป็นความไม่แน่นอนที่สำคัญ
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดอาจยังคงเปิดโอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ในคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Fed Dot Plot) จากการประชุมครั้งก่อนหน้า หากเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ จากการส่งสัญญาณของเฟดก่อนหน้านี้ เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 2.0% อย่างมีนัยสำคัญ และตลาดแรงงานที่ยังสะท้อนภาพแข็งแกร่งต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปแตะระดับสูงสุดที่ 5.50-5.75% หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับมาเร่งตัวสูงขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองความน่าจะเป็นต่อกรณีนี้ค่อนข้างต่ำ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้น้ำหนักมากสุดต่อกรณีเฟดสิ้นสุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบวัฏจักรนี้และคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย
ขณะที่ เมื่อมองไปข้างหน้า เฟดมีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยสูงและนานกว่าที่คาด (Higher for longer) หากเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าปรับลดลงช้าและหากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงไม่ชะลอตัวลงอย่างที่คาด โดยเฟดอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้าไปแล้ว ซึ่งจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มที่จะยังเผชิญความผันผวนต่อไปในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าคาดหรือคงดอกเบี้ยนโยบายยาวนานกว่าคาด ค่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ฯ ได้
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/FOMC-EBR4023-FB-30-10-2023.aspx