ศุภาลัย จับมือ เอสซีจี ดันบิ๊กโปรเจค “Waste Management” ในกระบวนการก่อสร้าง มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

0
1583

บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน จับมือ พันธมิตรทางธุรกิจ “เอสซีจี” นำโดย บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ผู้ริเริ่มผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นด้านงานโครงสร้าง เพื่อตอบโจทย์ Solution for Life และ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายท่อเอสซีจี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอสซีจี ดันบิ๊กโปรเจค “Waste Management” ในกระบวนการก่อสร้าง มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์มลพิษทางอากาศในปัจจุบัน หรือ ฝุ่น PM 2.5 บริษัทฯ ได้ตระหนัก และดำเนินมาตรการในกระบวนการก่อสร้างที่จะช่วยลดฝุ่น และลดของเสียที่เกิดจากงานก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยจิตสำนึกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ภายใต้แนวคิด “ศุภาลัย ใส่ใจ…สร้างสรรค์สังคมไทย” โดยหนึ่งใน Mission ที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ คือการจัดการกับของเสีย หรือ Waste Management ในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในวงจรธุรกิจ โดย บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อลดปริมาณความสูญเสียของวัสดุก่อสร้าง และสามารถจัดการกับเศษวัสดุก่อสร้างให้เกิดมูลค่า และประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสามารถลดมลพิษทางอากาศในปัจจุบันได้ โดยมุ่งหวังให้ภารกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย CSR-IN-PROCESS และการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs)
นายกิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงานก่อสร้างอาคารสูง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากนโยบายการให้ความสำคัญกับการจัดการกับของเสีย หรือ Waste Management ในกระบวนการก่อสร้างที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดการกับของเสียภายในหน่วยงานก่อสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาโดยตลอด
เพื่อต่อยอดความยั่งยืน และเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ล่าสุด บริษัทฯ ได้จับมือกับ “เอสซีจี”
ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญวัสดุก่อสร้างมาอย่างยาวนานที่ได้พัฒนานวัตกรรมสินค้า และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการบริหารจัดการวัสดุก่อสร้างภายในโครงการก่อสร้างอาคารสูง จำนวน 17 โครงการ ทั้งการพัฒนา วัสดุก่อสร้างที่สามารถช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากการก่อสร้างให้น้อยที่สุดตั้งแต่แรก อาทิ การกำหนดขนาดของลูกปูนในการทดสอบกำลังรับแรงอัดของคอนกรีตให้มีขนาดที่เหมาะสม แต่ยังคงประสิทธิภาพเดิมไว้ได้ โดยมีความแม่นยำในผลการทดสอบรับแรงตามที่วิศวกรโครงสร้างได้ออกแบบไว้ สามารถลดขยะคอนกรีตที่เกิดจากการทดสอบได้มากถึง 5 เท่า สามารถลดค่าใช้จ่าย ลดฝุ่น ลดการขนส่ง และลดระยะเวลาการก่อสร้าง รวมไปถึงการกำหนดขนาดความยาวของท่อ PVC, PP-R และ ท่อร้อยสายไฟ (uPVC) เพื่อให้เหมาะสมกับความสูงของการก่อสร้างห้องพักและอาคาร และลดปริมาณเศษของท่อที่เหลือจากการใช้งาน หรือแม้แต่การพัฒนากระบวนการนำเศษวัสดุก่อสร้างที่เหลือจากการใช้งานภายในหน่วยงานแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้ง ถือเป็นการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนกระทั่งการนำเศษวัสดุที่เหลือจากการใช้แล้ว ให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้งร่วมกัน
นายชูโชค ศิวะคุณากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เปิดเผยว่า การนำเศษวัสดุที่เหลือใช้ภายในหน่วยงานก่อสร้างกลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำหัวเสาเข็มที่เหลือหลังจากการตัดแล้ว มาผ่านกระบวนการบดย่อยเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนนบริเวณภายในหน่วยงานก่อสร้าง ตามหลักการ Circular Economy ที่เอสซีจีได้ยึดถือปฎิบัตินั้น เป็นตัวอย่างที่ดีในการช่วยลดปัญหาการจัดการขยะจากเศษวัสดุก่อสร้างภายในหน่วยงาน และยังเป็นการช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งได้มีตัวอย่างที่เริ่มพัฒนาทำร่วมกันแล้วที่โครงการศุภาลัย เวอเรนด้า พระราม 9
นายกฤต บุนนาค ผู้จัดการธุรกิจท่อและข้อต่อ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการก่อสร้างโครงการอาคารสูงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอุตสาหกรรมการก่อสร้างจะมีปริมาณของ เศษวัสดุที่เหลือใช้สูงตามไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อรองรับกับความต้องการและการขยายตัวของตลาด ท่อเอสซีจี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเพื่อช่วยลดปริมาณของเศษวัสดุที่เหลือใช้ โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของงานก่อสร้าง และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การบริหารจัดการวัสดุก่อสร้างภายในโครงการก่อสร้างอาคารสูง ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่ บมจ.ศุภาลัย และเอสซีจี ร่วมมือกันดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน