
วันที่ 22 ก.ค. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการประชุมเรื่อง การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน และมี แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานบอร์ด สกสว. และ ศ.กิตติคุณ นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เข้าร่วมการประชุม

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุม MR 209 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานครนางสาวศุภมาส กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าของพันธุกรรมพืชของไทย สู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่ง วช. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ผ่านการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช การสำรวจพืชท้องถิ่น และส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ชึ่งผลงานวิจัยที่นำเสนอในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชอนุรักษ์ และสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยทุกคน

ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการสนับสนุนการวิจัยพืชอนุรักษ์หลากหลายชนิด อาทิ ทุเรียน สัก มะเกี๋ยง และพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ผักเชียงดา ตะคึก เพื่อให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทย ในปี 2567 นี้ วช. ขยายขอบเขตการทำงานไปสู่การสนับสนุนสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้และเห็นคุณค่าของทรัพยากรพันธุ์พืชในท้องถิ่น และร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป

ทั้งนี้ ในงานมีการบรรยายเรื่อง อพ.สธ. ประโยชน์แท้แก่มหาชน โดย นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในประเทศไทยเริ่มต้นจากพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2528

โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชที่มีค่าให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นหลัง จากความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมของพืชเอกลักษณ์ในสภาวะปลอดเชื้อในอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ขึ้น เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาเรื่อง “อพ.สธ.-วช. อนุรักษ์และพัฒนาด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย” โดยมีประเด็นเสวนา ดังนี้ 1.งานวิจัยด้านทุเรียน 2.งานวิจัยด้านสัก 3.งานวิจัยด้านยางนา 4.งานวิจัยมันพื้นบ้าน และการเสวนาเรื่อง “หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน ผลิตผลจากสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” โดย โรงเรียนสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้รับการคัดเลือกจากการส่งข้อเสนอกิจกรรมสามพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 5 โรงเรียน การเสวนาในครั้งนี้ วช. ถือเป็นก้าวสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ด้วย