คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าพัฒนาโครงการ Sensor for All ปีที่ 3 ภายใต้ความร่วมมือกับ GISTDA พร้อมด้วยองค์กรชั้นนำของไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ ไมโครซอฟท์ ทรู และเอไอเอส หวังกระจายระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะที่คิดค้นโดยคนไทยให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นำข้อมูลเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุฝุ่นพิษ สู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร จัดงานแถลงข่าวและประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 โดยได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี
พร้อมด้วย ดร.พัชราวดี สุวรรณธาดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 นี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่ว่า Innovation toward Sustainability หรือการอุทิศองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน ด้วยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวฯ กับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Liaison Program) หรือ ILP เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 และมลภาวะทางอากาศตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น วิศวฯ จุฬาฯ จึงได้เป็นแกนหลักในการผนึกพลังทุกภาคส่วนที่เห็นถึงปัญหาเดียวกันนำศาสตร์ด้านวิศวกรรมมาช่วยหาสาเหตุ เก็บข้อมูลอันเป็นประโยชน์นำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ประกอบกับข้อมูลปริมาณฝุ่นที่มีความถูกต้องแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้โครงการ Sensor for All ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่โดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ปีที่ 2 พัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล ตลอดจนขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และในปีที่ 3 นี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้ร่วมมือขยายเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากกว่า 500 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า ด้วยการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) อีกทั้งได้พัฒนาระบบแสดงผลผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชันสำหรับขยายผลไปสู่การสร้างการรับรู้ร่วมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบหนังสือ บอร์ดเกม และอีกหลากหลายช่องทาง เพื่อมุ่งสู่การสร้างความรู้ที่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตฝุ่นขนาดเล็กในระดับปัจเจก จนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงนโยบายของประเทศ โดยมีข้อมูลสนับสนุนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการ Sensor for all สอดคล้องกับนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนของ กฟผ. โดยความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. จะนำระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มาบูรณาการร่วมกับโครงการ Sensor for all ในการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเมือง พร้อมสนับสนุนการติดตั้งเซ็นเซอร์เพิ่มเติมและร่วมกับพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์มระดับประเทศในการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่ง กฟผ. สามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ประกอบการวางแผนการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ด้วย นอกจากนี้ กฟผ. จะสนับสนุนทุนผ่านกิจกรรมระดมทุนในโครงการนี้ เพื่อร่วมติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศรวม 200 จุดในบริเวณพื้นที่ กฟผ. และเครือข่ายโรงเรียนในโครงการ “ห้องเรียนสีเขียว” ทั่วประเทศ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมภายใต้โครงการ Sensor for All มาใช้เป็นเครื่องมือในการรับรู้และตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการและแก้ปัญหามลภาวะฝุ่นในระยะยาวตามสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน โดยปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศแล้วจำนวน 12 เครื่อง ที่บริเวณสำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติและสำนักงานเคหะชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้คาดว่าจะติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป
นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ให้ความสนใจและดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ตามภารกิจซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าแก่สังคม โดยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามและวิเคราะห์ค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งจะสามารถทำให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์ เตรียมตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ GISDTA จะร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายที่รับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ตั้งใจที่จะช่วยเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรบนใบโลกนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนไปพร้อมกัน โดยที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ได้สนับสนุนโครงการ Sensor for All ในรูปของทรัพยากรคลาวด์เพื่อทั้งจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดยการสนับสนุนในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกภายใต้ชื่อ AI for Earth ที่สนับสนุนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก
นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังตั้งเป้าหมายที่จะก้าวสู่สถานะ Carbon Negative ภายในปี 2573 ด้วยการลบล้างมลภาวะคาร์บอนในปริมาณเทียบเท่ากับที่ปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมทั้งหมดนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา
“ทั้งนี้ องค์กรภาครัฐ เอกชน หรือผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุนโครงการระดมทุน Sensor for All ปีที่ 3 เพื่อสนับสนุนการผลิตและติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนา Online Platform ควบคู่ไปกับการสร้างสื่อการเรียนรู้ผ่านหนังสือ “ยุทธการดับฝุ่น” และบอร์ดเกม Just Dust เพื่อขยายผลสู่การจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศต่อไป โดยบริจาคสมทบทุนได้ที่บัญชี “กองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจามจุรี สแควร์ เลขที่ 405-4-13788-7 ซึ่งสามารถนำยอดบริจาคนี้ ไปหักภาษีได้ 2 เท่าอีกด้วย” ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล หัวหน้าโครงการและรองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในที่สุด