“วิศวกรสังคม” มรภ.มหาสารคาม นำโจทย์การจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาให้ชุมชนบ้านโนนแต้ จ.มหาสารคาม ด้วยวิจัยและนวัตกรรม

0
432

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาด้วยทักษะวิศวกรสังคม ที่วช.ให้การสนับสนุนการวิจัย ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และบ้านโนนแต้ จ.มหาสารคาม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏได้นำกระบวนการ “วิศวกรสังคม” และวิศวกรสังคมที่ผ่านการบ่มเพาะไปศึกษโจทย์ในพื้นที่และออกแบบกระบวนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) ได้ดำเนินการบ่มเพาะ พัฒนาและส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคม นำทักษะ 4 ประการ ได้แก่ เป็น นักคิด นักสื่อสาร นักประสานงาน และนักสร้างนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการดำเนินการเพื่อพัฒนาและออกแบบโจทย์ร่วมกับชุมชน ทำให้วิศวกรสังคมสามารถทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วม และมีความเข้มแข็งเป็นต้นแบบที่ดี ดังที่วิศวกรสังคมของ มรม. ที่ทำงานร่วมกับชุมชนบ้านโนนแต้ จ.มหาสารคามได้เป็นกระบวนการที่เข้มแข็ง

ผศ.ดร.เนตรชนก จันทร์สว่าง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า “วิศวกรสังคม” เป็นรูปแบบที่ช่วยให้ มรม. สามารถพัฒนานักศึกษามาร่วมดำเนินงานเพื่อการพัฒนาชุมชนได้ตรงตามต้องการของชุมชน ดังจะเห็นได้จาก “โครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาด้วยทักษะวิศวกรสังคม เพื่อนำสู่การพัฒนาพื้นที่ชุมชนความร่วมมือด้านบริการวิชาการกับ มรม.” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ที่มี ผศ.ดร.ไชยยันต์ สกุลไทย หัวหน้าโครงการ ได้เริ่มโครงการตั้งแต่ พฤษภาคม 2565-ปัจจุบัน ซึ่งนำเอากระบวนการวิศวกรสังคมมาพัฒนานักศึกษาให้มีประสบการณ์และทักษะการทำงานจริงร่วมกับชุมชน นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพ ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ซึ่งโครงการนี้ได้ประยุกต์ให้เข้ากับภารกิจในปี 2567 มรม. มีความพร้อมในการนำกระบวนการวิศวกรสังคม เพื่อพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษา และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผศ.ดร.ไชยยันต์ สกุลไทย หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ได้บูรณาการการเรียนการสอนนักศึกษาให้ฝึกปฏิบัติงานจริงตามกระบวนการวิศวกรสังคมร่วมกับชุมชน โดยให้นักศึกษา วิศวกรสังคม ลงพื้นที่เพื่อศึกษาบริบทชุมชน เก็บข้อมูลชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมสู่ชุมชน โดยมีการลงชุมชน 5 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าตูม และชุมชนบ้านท่าสองคอน มีความต้องการชุดเลี้ยงปลาอควาโปรนิกส์ ชุมชนเขาพระนอน มีความต้องการชุดกาลักน้ำอัตโนมัติ ชุมชนโนนภิบาล และชุมชนบ้านโนนแต้ มีความต้องการชุดเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งในครั้งนี้ ได้มีการลงพื้นที่เพื่อติดตามงานของวิศวกรสังคมที่ได้นำโจทย์ของชุมชนมาจัดทำกระบวนการและนำนวัตกรรมเรื่องชุดเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ ณ ชุมชนบ้านโนนแต้ เนื่องจากพบว่าพื้นที่ดังกล่าว มีแหล่งนำ้ธรรมชาติแต่อยู่ห่างไกลจากชุมชน และมีปัญหาในการนำส่งน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ จึงได้พัฒนาโมเดลการใช้แหล่งนำ้ที่สร้างขึ้นมาที่ขนาดใหญ่เพียงพอ เพื่อรองรับการทำการเกษตรที่เป็นอาชีพหลักของชุมชน และเป็นพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง โดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นนวัตกรรมต้นแบบในการนำพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในการทำเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ที่นำส่งน้ำเข้าแปลงปลูกได้ สามารถปลูกข้าวเหนียวได้เจริญเติบโตดี มีผลผลิตที่สามารถเก็บไว้บริโภคตลอดปีและแบ่งจำหน่ายเป็นรายได้ ขณะที่เกษตรพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่มีการนำส่งน้ำเข้าแปลงปลูก ไม่สามารถปลูกพืชปลูกข้าวได้ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาล

ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการดังกล่าว กับผู้นำชุมชนบ้านโนนแต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป