วิจัยกรุงศรีชี้เศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังรักษาอัตราการเติบโตได้ แต่แรงส่งมีแนวโน้มอ่อนแอลงในไตรมาส 3 เป็นผลให้คาดการณ์ GDP ปีนี้ยังมีความเสี่ยงขาลงอยู่มาก

0
1376

วิจัยกรุงศรีรายงานว่า GDP ใน 2Q2564 เติบโตกว่าคาด ขณะที่ความรุนแรงของการระบาดยังคงกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ใน 2Q2564 ขยายตัว 7.5% YoY ดีกว่าที่ตลาดและวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ +6.6% และ +7.0% ปัจจัยหนุนจากการเติบโตของการส่งออกสินค้า (+30.7%)  การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ (+2.5%) และผลของฐานที่ต่ำมากในปีก่อน ส่วนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แม้ GDP ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่ +0.4% QoQ sa   แต่อุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณซบเซาลงชัดเจน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบมากขึ้น (ดังตาราง) ผลกระทบจากการระบาดในประเทศที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 สำหรับภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรมมีการปรับดีขึ้นจากไตรมาสแรก (+2.7%) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลง (+1.8%) และภาคบริการยังหดตัวต่อเนื่อง (-0.8%) ทั้งนี้ โดยรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัวที่ 2.0% ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 0.7%-1.2% จากเดิมคาด 1.5% -2.5%

แม้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเกินคาด แต่การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ในระดับสูงและมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน ซึ่งล่าสุดวิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจแตะระดับ 26,000 รายในช่วงต้นเดือนกันยายน และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน ดังนั้น คาดว่ากว่าที่ทางการจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน เป็นผลให้อุปสงค์ในประเทศและหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มซบเซา นอกจากนี้ ภาคการผลิตและภาคส่งออกอาจได้รับความเสี่ยงจากการระบาดที่แพร่ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้างขึ้น รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อาจชะลอลงหลังจากหลายประเทศประสบกับการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจึงมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากครึ่งปีแรกอย่างชัดเจน ขณะที่ประมาณการ GDP ปีนี้ที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ว่าจะเติบโตที่ 1.2% เผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้นหากมาตรการทางการคลังและการเงินที่กำลังจะออกมาไม่มากเพียงพอที่จะบรรเทาผลเชิงลบดังกล่าว 

ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ขณะที่การระบาดแพร่สู่ภาคการผลิตเป็นวงกว้างมากขึ้น เสี่ยงกระทบส่งออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ที่ 78.9 จาก 80.7 ในเดือนก่อน ปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐขยายพื้นที่และระยะเวลาในการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาด ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงอยู่ที่ 89.3 จาก 90.8 ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม

การลดลงของความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสอดคล้องกับผลสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมอยู่ในแดนหดตัว (ต่ำกว่า 50) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ระดับ 48.7 จาก 49.5  ในเดือนก่อน สะท้อนภาคการผลิตในต้นไตรมาส 3/2564 ปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่เลวร้ายลงและยาวนานกว่าคาด ล่าสุดต้นเดือนสิงหาคมทางการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เป็น 29 จังหวัด และขยายเวลาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ถึงวันที่ 18 สิงหาคม และมีแนวโน้มอาจขยายถึงสิ้นเดือนสิงหาคมเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังอยู่ในระดับสูง  ขณะที่การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ โลหะ และพลาสติก ทั้งนี้ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานได้ คาดว่าผลกระทบด้านแรงงานอาจบั่นทอนผลผลิตภาคอุตสาหกรรรมและภาคส่งออก ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มอ่อนแอลง

ด้านเศรษฐกิจโลก การระบาดรอบใหม่จากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจหลายประเทศแม้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯร่วงลง แต่ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานหนุนเฟดประกาศปรับลด QE ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งแตะระดับ 129,705 รายสูงสุดในรอบ 6 เดือน เป็นผลจากการระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่อาจกระทบเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ 70.2 นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นฯที่ลดลงยังสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเงินเฟ้อจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจำกัดการบริโภคภาคครัวเรือน

แรงต้านจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่กดดันการฟื้นตัว อาจทำให้เฟดยังไม่มีท่าทีที่เข้มงวด (Hawkish) มากในการประชุมธนาคารกลางทั่วโลกที่เมืองแจ็กสัน โฮล แต่คาดว่าเฟดอาจประกาศแผนการปรับลด QE ในไตรมาสที่ 4/2564 ก่อนดำเนินการปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE Tapering) ที่จะเริ่มต้นในปีหน้า เนื่องจาก 

  1. แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมเพิ่ม 5.4% YoY ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน  
  2. ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากจำนวนการเปิดรับสมัครงานเดือนกรกฎาคมแตะระดับ 10.1 ล้านตำแหน่ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.4% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ล่าสุดจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 สิงหาคมลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 สู่ระดับ 3.75 แสนราย

จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในญี่ปุ่นมีแนวโน้มกระทบเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 3 คาดการฟื้นตัวอาจล่าช้าออกไป ในเดือนมิถุนายนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัว 5.1% YoY ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่รายได้จากการจ้างงานลดลง 0.1% หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่วนในเดือนกรกฎาคมดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการปรับตัวลงสู่ระดับ 48.8 สะท้อนการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ค่าดัชนี <50) เป็นเดือนที่ 3

การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ที่มีสาเหตุสำคัญจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันแตะระดับ 15,000 รายสูงสุดนับตั้งแต่โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาด รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 4 เริ่มจากเมืองโอกินาวาในเดือนมิถุนายนและขยายออกไปจนครอบครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด รวมทั้งกรุงโตเกียวและนครโอซาก้า ขณะเดียวกันยังได้ประกาศภาวะกึ่งฉุกเฉินใน 13 จังหวัด โดยพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมทั้งหมดนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของ GDP คาดว่าผลกระทบจากการระบาดที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงจะส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 สะดุดลงและการฟื้นตัวอาจล่าช้ากว่าประเทศหลักอื่นๆ

เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยลบทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสเดลต้าและการยกระดับมาตรการควบคุมการเก็งกำไร ในเดือนกรกฎาคมการส่งออกขยายตัว 19.3% YoY ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลง 11.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.0% ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ด้านปริมาณสินเชื่อออกใหม่เติบโต 12.3% ทรงตัวจากเดือนก่อน

ตัวเลขในเดือนกรกฎาคมสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ทั้งจากมูลค่าการส่งออกที่มีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การลดลงของยอดจำหน่ายรถยนต์บ่งชี้ว่าแรงขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศเริ่มแผ่วลง นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันหลายด้านดังต่อไปนี้

  1. การระบาดระลอกใหม่โดยเฉพาะจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า 
  2. การปิดท่าเรือหนิงโป-โจวซานชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลต่อการชะงักงันของการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งในจีนและการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก  
  3. มาตรการเพื่อควบคุมการเก็งกำไรซึ่งกระทบภาคธุรกิจบางสาขาโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าทางการจีนจะต้องใช้มาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาความไม่แน่นอนข้างต้นและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม                                                 วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home

อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com