วิจัยกรุงศรีรายงานว่า แม้มีการเปิดประเทศต้นเดือนพฤศจิกายนเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่ต้องกักตัว และผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่คาดว่าระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมภายในสิ้นปีนี้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการระบาดราว 6% การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม มีข้อสรุปสำคัญ ดังนี้
- เตรียมพิจารณาแนวทางการเปิดประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าวันที่ 1 พฤศจิกายน จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เดินทางเข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว ไม่จำกัดพื้นที่ หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด
- ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ปรับลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 23.00 น ถึง 3.00 น (เดิม 22.00 น ถึง 4.00 น) และปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (แดงเข้ม) เหลือ 23 จังหวัด (เดิม 29 จังหวัด) ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด (แดง) ล่าสุดมี 30 จังหวัด (เดิม 37 จังหวัด) พื้นที่ควบคุม (ส้ม) 24 จังหวัด (เดิม 11 จังหวัด)
- ผ่อนคลายกิจกรรมเพิ่มเติม อาทิ การจัดงาน การประชุม โดยขยายจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามแต่ละระดับพื้นที่
การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มเติมแม้คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการมากขึ้นและช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจลงได้บ้าง แต่อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการปรับขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในช่วงที่เหลือของปีจึงยังจำเป็นต้องทำด้วยความระมัดระวังไปพร้อมกับการเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ อาทิ การสื่อสารที่ชัดเจน การสวมหน้ากาก การใช้ระบบติดตามผู้ป่วย และการเร่งฉีดวัคซีน ในส่วนของมาตรการเปิดประเทศที่จะเริ่มขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เบื้องต้นทางการระบุประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน และสิงคโปร์ เป็นต้น โดยจะเปิดรับเข้าสู่ประเทศแบบไม่ต้องกักตัว ภายใต้เกณฑ์ข้อกำหนดไว้ อาทิ ฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางและเมื่อถึงไทย อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือนโยบายของประเทศต้นทางเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวหลักจากจีนที่นับว่ามีสัดส่วนสูงเกือบ 28% ของภาคท่องเที่ยวไทย ทั้งในด้านจำนวนและการสร้างรายได้แก่ประเทศ ซึ่งปัจจุบันทางการจีนยังคงมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศโดยไม่อนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประกาศเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาไทยเนื่องจากเป็นพื้นที่การระบาดยังมีความเสี่ยงสูง ดังนั้น มาตรการหรือนโยบายของประเทศต้นทางจึงอาจเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะอันใกล้นี้
วิจัยกรุงศรีประเมินแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มเติม และมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมภายในสิ้นปีนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 อยู่ประมาณ 6% โดยคำนวณจากการใช้ข้อมูลความถี่เร็ว ได้แก่ ความเข้มงวดของมาตรการ (measures of stringency) ความเข้มงวดของมาตรการที่เกิดขึ้นจริง (Implied stringency) เครื่องชี้เร็วด้านการเดินทาง (Google Mobility Index) และ ความนิยมในการค้นหา (Google search trends) เพื่อสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการคาดการณ์ทิศทางของการค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และกิจกรรมท่องเที่ยว พบว่าภายในสิ้นปีนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีกจะกลับมาอยู่ที่ 94.9% และ 92.3% ของระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ตามลำดับ ขณะที่กิจกรรมท่องเที่ยวจะอยู่เพียงแค่ 57.9% ของระดับก่อนวิกฤต COVID-19 เท่านั้น และเมื่อคำนวณดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมแล้วพบว่า ณ สิ้นปีนี้ จะมีค่าอยู่ที่ 94.4% ของระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19
ข้อมูลเพิ่มเติม วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home