วิจัยกรุงศรีคาดพื้นที่ทางการคลังที่เพิ่มขึ้นและแรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออก มีบทบาทสำคัญหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

0
1373

วิจัยกรุงศรีคาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีจะเติบโต 13.5% โดยมูลค่าส่งออกในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 22.0 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.9% YoY แม้ชะลอลงเหลือเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน แต่หากหักสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ มูลค่าส่งออกเดือนนี้ยังเติบโตดีที่ 19.4% ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในระดับสูงและมาตรการควบคุมที่เข้มงวดในช่วงเดือนสิงหาคม กระทบต่ออุปทานแรงงาน การขนส่ง และภาคการผลิต  โดยสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่เติบโตชะลอลง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า (+6.3%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+6.5%) อิเล็กทรอนิกส์  (+12.7%) อาหารแปรรูป (+16.6%) ยานพาหนะและอุปกรณ์ (+23.5%) อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกบางรายการยังคงเติบโตแข็งแกร่งกว่า 40% นำโดยวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เกษตร  เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้านตลาดส่งออก ตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเติบโตชะลอลง ขณะที่ตลาด CLMV กลับมาหดตัว โดยเฉพาะเมียนมาร์ (-6.3% จากความวุ่นวายทางการเมือง) และเวียดนาม (-17.2% จากการระบาดของ COVID-19) อย่างไรก็ตาม ตลาดจีน อาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ยังคงเติบโตดี  

แม้ส่งออกเดือนล่าสุดเติบโตชะลอลงเหลือเลขหลักเดียว แต่มูลค่าส่งออกที่ระดับ 22.0 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกเดือนสิงหาคมในรอบ 5 ปี ที่ 21.0 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้วิจัยกรุงศรีคาดว่าการส่งออกของไทยจะค่อยๆ เติบโตดีขึ้น เนื่องจากภาวะชะงักงันของภาคการผลิตและการขาดแคลนแรงงานบรรเทาลง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 เริ่มลดลง นอกจากนี้ การส่งออกยังมีปัจจัยหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายลงในหลายประเทศรวมถึงอาเซียน อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของส่งออกไทยอาจจะไม่สูงมากดังเช่นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาซึ่งเคยเติบโตถึง 20-40% เนื่องจากการลดลงของผลบวกจากปัจจัยชั่วคราวทั้งการเร่งกลับมาใช้จ่ายของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยรวมแล้ววิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกในปี 2564 ที่ 13.5%  จากขยายตัว 15.2% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (บนฐานข้อมูลกระทรวงพาณิชย์

ทางการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP เปิดทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 กันยายน เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP จากเดิมกำหนด 60% เพิ่มเป็น 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เนื่องจากในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมจากวงเงินที่เหลืออยู่จาก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) เพื่อเยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยสูงกว่า 60% ของ GDP เทียบกับ ณ สิ้นปีงบฯ 2564 (เดือนกันยายน) คาดว่าจะอยู่ที่ 58.96%

วิจัยกรุงศรีประเมินการขยายเพดานหนี้สาธารณะไปที่ระดับ 70% ถือเป็นระดับที่โครงสร้างของประเทศยังรองรับได้ และยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน อาทิ อินเดีย และมาเลเซีย การขยายเพดานหนี้สาธารณะจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่การดำเนินมาตรการของภาครัฐซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการช่วยสร้างรายได้ที่ลดลงมากและเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็ว ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีเคยเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดวงเงินราว 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 6  มาตรการ ได้แก่ การให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว (16 พันล้านบาท) การรักษาระดับการจ้างงาน  (285 พันล้านบาท) การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ (20 พันล้านบาท) การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน (200 พันล้านบาท) การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ (43 พันล้านบาท) และการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน (132 พันล้านบาท) โดยคาดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 3.53%

ข้อมูลเพิ่มเติม                                                                                   

วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home

อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com