วิจัยกรุงศรีคาดการฟื้นตัวของการบริโภคยังมีความแตกต่างในหลายมิติ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น

0
1478

วิจัยกรุงศรีรายงานว่าแม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าจะฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ 44.9 จาก 43.9 ในเดือนตุลาคม โดยเป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกองค์ประกอบ ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่มีทิศทางดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตรายวันมีแนวโน้มลดลง กอปรกับการฉีดวัคซีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้ปลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (แดงเข้ม) และยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศ รวมถึงมีการเปิดประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน

แม้มีสัญญาณการปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงปลายปีแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาด (ปี 2562 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5) สำหรับแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าวิจัยกรุงศรีคาดว่าจะเติบโตที่ 3.6% จาก 1.1% ในปี 2564 ทั้งนี้ การใช้จ่ายของครัวเรือนในภาพรวมอาจจะฟื้นสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐ และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังมีความไม่เท่าเทียมกัน รายได้ของครัวเรือนที่แตกต่างกันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการใช้จ่าย เนื่องจากการฟื้นตัวของค่าจ้างที่ยังมีความแตกต่างกันตามภาคธุรกิจ รายพื้นที่ อัตราการฉีดวัคซีนและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคาดว่าการฟื้นตัวของการใช้จ่ายยังมีแนวโน้มอ่อนแอ นอกจากนี้ การบริโภคยังคงถูกกดดันจากผลพวงของวิกฤตการระบาดที่ลากยาว ทั้งอัตราการว่างงานและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง รวมถึงความกังวลการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนที่ยังมีความไม่แน่นอนและอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการฟื้นตัว

ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นในทุกกลุ่ม สนับสนุนมุมมองการลงทุนภาคเอกชนอาจเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 85.4 เพิ่มขึ้นจาก 82.1 ในเดือนตุลาคม นับเป็นการปรับเพิ่มติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนหรือนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 21 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ระดับ 97.3 จาก 95.0 ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก
สัญญาณเชิงบวกจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนมุมมองของวิจัยกรุงศรีเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่กำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีทิศทางปรับดีขึ้น รวมถึงการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เร่งขึ้นจะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องตามมา นอกจากนี้ ข้อมูลรายจ่ายด้านสินค้าทุน (CAPEX) ของไทยเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับวงจรขาขึ้นของการลงทุนโลก โดย S&P คาดว่า CAPEX ของโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นถึง 13.3% แม้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของไทยจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาด แต่ในหลายอุตสาหกรรมสำคัญสามารถฟื้นอยู่เหนือระดับก่อนการระบาดแล้ว อาทิ IC & เซมิคอนดักเตอร์ เภสัชกรรม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร และเครื่องประดับ ส่วนกำลังการผลิตในบางอุตสาหกรรมเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดโรคระบาด เช่น ผลิตภัณฑ์เคมี HDD การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com