วิจัยกรุงศรีคาดการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานตลาดโลกสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเร่งขึ้น แต่ไทยยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

0
1490

วิจัยกรุงศรีคาดการพุ่งขึ้นวิจัยกรุงศรีรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวิกฤตราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 5.28% YoY เร่งขึ้นจาก 3.23% ในเดือนมกราคม สาเหตุจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ทางการได้มีมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงเกือบสิ้นเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป และอาหารบริโภคนอกบ้าน มีการปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 1.80% สูงสุดในรอบกว่า 7 ปี จาก 0.52% เดือนมกราคม สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 4.25% และ 1.16% ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเร่งขึ้นมากโดยแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 และยืนอยู่เหนือกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ในเดือนถัดไปยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีความเสี่ยงจะยืดเยื้อ แรงกดดันทางด้านราคาโดยเฉพาะในหมวดพลังงานจึงเพิ่มขึ้นกว่าคาด กระทบต้นทุนการผลิตปรับเพิ่ม อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จึงมีโอกาสสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7%

แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้นกว่าคาด โดยมีสาเหตุสำคัญจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครน อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังอาจสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ การระบาดของไวรัสโอมิครอนในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ในระดับสูงกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งนับว่ามีความอ่อนแอและเปราะบางอยู่มาก วิจัย
กรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกตรึงไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 2565
แม้มีปัจจัยบวกอยู่บ้าง แต่ความเสี่ยงจากวิกฤตยูเครนที่ทวีความรุนแรง อาจกดดันการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (วันที่ 1 มีนาคม) มีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลง Air Travel Bubble ระหว่างไทย-อินเดีย ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การกลับมาเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างประเทศได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากถูกระงับไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ในปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ไทยมีนักท่องเที่ยวอินเดียราว 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม แต่หลังจากไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการ Test & Go ยังมีนักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเพียง 7,671 คน (พฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565) หรือคิดเป็น 1.6% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม ทั้งนี้ คาดว่าการจัดทำความตกลงดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าจีนเริ่มหาแนวทางยกเลิกนโยบาย Zero Covid ซึ่งหากเกิดขึ้นได้เร็ว คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังเป็นปัจจัยลบที่ต้องติดตาม โดยล่าสุดเดือนมกราคม นักท่องเที่ยวรัสเซียมีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 23,761 คน (สัดส่วน 17.7% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม) เทียบกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการระบาดอยู่ที่ 1.5 ล้านคน (สัดส่วน 3.7%) แต่หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงและยืดเยื้อ อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อนักท่องเที่ยวจากยุโรปซึ่งนับเป็นตลาดสำคัญของไทยนับตั้งแต่มีการเปิดประเทศ

ในส่วนของเศรษฐกิจโลก สงครามในยูเครน การคว่ำบาตร และการตอบโต้ที่ทวีความรุนแรง เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก วิกฤตยูเครนรุนแรงกว่าคาด เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในยุโรป สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนรุนแรงขึ้น โดยกองกำลังทหารของรัสเซียได้เข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีปูติน ยืนกรานใช้กำลังเพื่อยุติการต่อต้านรัสเซีย ด้านสหภาพยุโรปและชาติพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซียซึ่งจะมีผลให้ไม่สามารถใช้ทุนสำรองได้ นอกจากนี้ยังปิดกั้นธนาคารรัสเซีย 7 แห่งจากระบบชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) รวมทั้งการปิดน่านฟ้าต่ออากาศยานรัสเซีย การคว่ำบาตรที่รุนแรงส่งให้มีแรงเทขายสินทรัพย์รัสเซีย ขณะที่ตราสารหนี้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ค่าเงินรูเบิลร่วงถึง 30% YTD ธนาคารกลางรัสเซียจึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 9.5% เป็น 20.0% วิกฤตที่ลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจและการเงินอาจส่งผลให้รัสเซียเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ความตึงเครียดจากการโจมตียูเครนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะภูมิภาคยูโรโซน ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่าความเสียหายเบื้องต้นอาจทำให้ GDP ของยูโรโซนลดลงประมาณ 0.3%-0.4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 4.2% อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่มีแนวโน้มลากยาวและรุนแรงยิ่งขึ้นจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยุโรปและชาติพันธมิตรอาจห้ามการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ความขัดแย้งยังอาจส่งผลต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ล่าสุดธนาคารโลกระบุว่าสงครามในยูเครนถือเป็นหายนะที่จะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

แม้เผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามในยูเครน แต่ตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ตึงตัวอาจกดดันเฟดให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการแตะระดับ 55.9 ดีขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 6.78 แสนตำแหน่งสูงสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดที่ 3.8% ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงเพิ่มสู่ระดับ 34.7 ดอลลาร์และดีกว่าที่ตลาด ล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปีที่ 2.15 แสนราย

ถึงเฟดจะประเมินผลกระทบจากความตึงเครียดในยูเครนว่า“มีความไม่แน่นอนอย่างมาก” แต่ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ประธานเฟดระบุว่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวอย่างมากถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ สำหรับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นกว่าคาดอาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างเป็นวงจรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ โดยจะเริ่มปรับขึ้น 25 bps ในการประชุมเดือนมีนาคม

เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ขณะที่ทางการกำหนดเป้าหมายการเติบโตสูงกว่าคาด พร้อมรับมือความเสี่ยงในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น (51.2 จาก 51.0 ในเดือนมกราคม) นำโดย PMI นอกภาคการผลิต (51.6 จาก 51.1) ส่วน PMI ภาคการผลิตทรงตัวจากเดือนก่อน (50.2 จาก 50.1)

เศรษฐกิจจีนกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากสถานการณ์การระบาดที่บรรเทาลง รวมทั้งปัจจัยบวกจากมาตรการด้านการเงินและการคลัง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนยังอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุดรัฐบาลได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่นเร่งสำรองสินค้าจากแหล่งอื่น เนื่องจากจีนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากรัสเซียในหลายรายการ เช่น นิกเกิล อะลูมิเนียม พัลลาเดียม น้ำมันจากธัญพืช ด้านการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาทางการเมือง รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ 5.5% แม้สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ (IMF คาดไว้ที่ 4.8%) แต่ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี ส่วนเป้าหมายการขาดดุลทางการคลังลดลงสู่ 2.8% ต่อ GDP (จาก 3.2%) แต่เร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนการดูแลเศรษฐกิจมิให้ชะลอตัวรุนแรงและรับมือกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่กำลังเพิ่มขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม
วิจัยกรุงศรี: https://www.krungsri.com/th/research/home
อีเมล: krungsri.research@Krungsri.com