วิกฤติน้ำทวีความรุนแรง: งานวิจัยโดยมินเทลเผยผู้คนทั่วโลกเริ่มวิตกปัญหาขาดแคลนน้ำมากขึ้น

0
438

ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก 49% ในขณะนี้เชื่อว่าประเทศของตนกำลังประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยชาติที่วิตกมากที่สุดคืออินโดนีเซียที่ 60%

● กิจกรรมเชิงอนุรักษ์สร้างแรงกระเพื่อมในหมู่ผู้บริโภคของภูมิภาคนี้อย่างมาก กว่า 58% กล่าวว่ากิจกรรมเชิงอนุรักษ์กระตุ้นให้พวกเขาตระหนักรู้ถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 46%
● มลภาวะพลาสติกหลุดจาก 3 อันดับแรก ของรายการปัญหาที่น่าวิตกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลก

ข้อมูลงานวิจัยใหม่จาก Mintel’s annual Global Outlook on Sustainability* ชี้วิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภครู้สึกวิตกเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

จำนวนผู้บริโภคทั่วโลกที่จัดอันดับให้วิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำติด 3 อันดับแรกของปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 2022 เป็น 35% ในปี 2023 ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ผู้คนหันมาวิตกเพิ่มขึ้นถึง 13% และนับเป็นความกังวลที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2021 มีผู้บริโภคทั่วโลกไม่ถึง 3 ใน 10 (หรือ 27%) ที่วิตกเรื่องการขาดแคลนน้ำ

ความกลัวต่อการขาดแคลนน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มลภาวะพลาสติกหลุดจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก โดยความกังวลต่อปัญหามลภาวะพลาสติก (เช่น ขยะพลาสติกในมหาสมุทร) ลดลงจาก 36% ในปี 2021 มาเป็น 32% ในปี 2023

สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีน (37%), เกาหลีใต้ (34%), และอินโดนีเซีย (32%) เป็นประเทศที่แสดงความวิตกสูงสุดในเรื่องการขาดแคลนน้ำ ในขณะเดียวกัน ความวิตกเรื่องการขาดแคลนอาหารจากภัยแล้งหรือผลผลิตตกต่ำยังมีอัตราสูงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในญี่ปุ่นและออสเตรเลีย (28%) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 25%

แม้ความวิตกต่อการขาดแคลนน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกังวลมากที่สุด โดยไทยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับทั่วโลกอยู่ที่ 47% ในปี 2023 ส่วนอินเดียมีความวิตกในอัตราที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาคจาก 31% ในปี 2021 เป็น 44% ในปี 2023

ผู้บริโภคทั่วโลกมากกว่าครึ่ง (51%) เชื่อว่าประเทศของตนกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยเพิ่มขึ้นจาก 44% ในปี 2021 โดยชาวอินโดนีเซียคิดว่าประเทศของตนกำลังประสบปัญหามากที่สุด (60%) ในขณะที่คนญี่ปุ่นมีความวิตกลดลงจาก 44% ในปี 2022 มาเป็น 40% ในปี 2023

ริชาร์ด โคป ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเทรนด์โลก แห่ง Mintel Consulting กล่าวว่า “การให้ความสำคัญกับการขาดแคลนน้ำเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรกสำหรับผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นว่าความตึงเครียดเรื่องน้ำกำลังเกิดขึ้นจริงทั่วโลก การที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำไต่จากอันดับ 5 ขึ้นมาที่ 3 ในรายการปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวบ่งชี้ว่าผลกระทบนั้นเกิดขึ้นโดยตรงกับผู้คนจริง ๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับปัญหาอื่น ๆ ที่เราได้รับฟังข่าวสารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก สิ่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่ความวิตกด้านสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนเพื่อการเอาชีวิตรอดของมนุษย์ อย่างการขาดแคลนน้ำและอาหาร และเกิดเป็นแรงปรารถนาที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อการฟื้นฟูโลกในอนาคต ในขณะที่มลภาวะพลาสติกยังคงเป็นข้อกังวลหลัก แต่ผู้บริโภคก็เริ่มกังวลเรื่องนี้น้อยลง เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับตนเองมากกว่า ทั้งยังได้รับทราบว่ายังมีปัญหาอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษมากกว่าอีกด้วย”

กิจกรรมเชิงอนุรักษ์สร้างแรงกระเพื่อมในหมู่ผู้บริโภคของภูมิภาค
อีกหนึ่งหัวข้อที่มีการโต้เถียงกันบ่อยครั้ง โดยงานวิจัยของมินเทลได้สำรวจถึงผลกระทบของกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ พบว่า 46% ของผู้บริโภคทั่วโลก** ยอมรับว่านักเคลื่อนไหวเชิงอนุรักษ์สามารถสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของพวกเขาได้มากขึ้น กิจกรรมโลกร้อนเพื่อสร้างการตระหนักรู้ ส่งผลกระทบที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยประเทศที่รายงานผลกระทบสูงสุดคืออินโดนีเซีย (80%) ไทย (74%) และอินเดีย (69%) และในขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญแก่กลุ่มนักเคลื่อนไหว ชาวออสเตรเลียเกือบครึ่ง (48%) ระบุว่านักเคลื่อนไหวเชิงอนุรักษ์ที่สร้างความปั่นป่วน (เช่น ปิดกั้นการจราจร) ควรถูกลงโทษโดยหน่วยงานรัฐบาล

“แน่นอนว่านักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสามารถสร้างผลกระทบได้จริง และได้รับการมองว่าเป็นนักประท้วงที่ถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเทศ โดยการวิจัยของเราชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่านักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการต้อนรับในหลายประเทศในฐานะผู้ให้การศึกษาแก่ผู้คน โดยเฉพาะประเทศในเอเชียแปซิฟิกและละตินอเมริกา นักเคลื่อนไหวยังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟอกเขียวธุรกิจแบรนด์ต่าง ๆ ในขณะที่นักเคลื่อนไหวพยายามให้ความรู้ด้านพลังงาน การจัดหาทรัพยากร และสัดส่วนการปล่อยมลพิษ เหล่าผู้บริโภคก็เริ่มหันมาพิจารณากลั่นกรองข้อมูลของผลกระทบที่เคยได้รับมาอย่างรอบด้านมากขึ้นด้วย” ริชาร์ด โคป กล่าวเสริม

ผู้บริโภคไม่เชื่อว่าการชดเชยคาร์บอนเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง
ในขณะเดียวกัน เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคและของบริษัทต่าง ๆ ก็เริ่มไม่สัมพันธ์กัน โดยผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกเกือบสองในสาม (65%) ต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของตนเอง แทนที่จะพึ่งพาโปรแกรมชดเชยคาร์บอนที่อยู่นอกเหนือจากธุรกิจของตนเอง นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากในออสเตรเลียและเกาหลีใต้ (41% และ 37% ตามลำดับ) รู้สึกไม่เชื่อถือในความซื่อสัตย์ของบริษัทต่าง ๆ ในเรื่องข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามบรรดาผู้บริโภคถึงสิ่งที่จะกระตุ้นให้พวกเขาพิจารณาซื้อผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคทั่วโลกราว 41% ระบุว่าพวกเขามองหาคะแนนที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใด (เช่น รหัสสี หรือคะแนน 1-5) ซึ่งทำให้เห็นว่าระบบการติดฉลากรหัสสีแบบ Nutriscore
ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องนี้

“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาในระดับโลก ผู้บริโภคไม่ต้องการให้แบรนด์ต่าง ๆ ใช้วิธีการชดเชยคาร์บอน แม้โครงการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าจะถือเป็นเกณฑ์พื้นฐานของโครงการคาร์บอนเครดิตที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้ในการยืนยันความเป็นกลางทางคาร์บอนของธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ของตน แต่รายงานข่าวของสื่อมวลชนที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการตรวจสอบความถูกต้องของโครงการเหล่านี้ ทำให้สาธารณชนเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ ลงมือทำและลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนโดยตรงด้วยตนเอง

“สืบเนื่องจากความสำเร็จของระบบสีสัญญาณไฟจราจรเพื่อบ่งชี้ข้อมูลโภชนาการของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ผู้บริโภคเรียกร้องให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาใช้ระบบที่คล้ายคลึงกัน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาคิดจะซื้อได้อย่างง่ายดาย และช่วยให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น” ริชาร์ด โคป กล่าว

ผู้บริโภคเรียกร้องรัฐบาลสร้างแรงจูงใจในเรื่องนี้
ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกราว 4 ใน 10 (44%) ยอมรับว่าประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่มีแรงจูงใจทางการเงินมากพอในการติดตั้งนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ ๆ ในบ้านของตน (เช่น เงินอุดหนุนเพื่อติดตั้งปั๊มความร้อน ฉนวน หรือแผงโซลาร์เซลล์) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 34% โดยผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (46%) ยังเชื่อว่าประเทศของตนเสนอสิ่งจูงใจทางการเงินมากพอในการเช่า/ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (เช่น เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์/วงเงินกู้ การติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้าน) โดยจีนและอินเดียถือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ที่ 61% ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าตลาดอื่น ๆ ทั้งหมดในงานวิจัยของมินเทล

“แม้ผู้บริโภคจำนวนมากยังสนับสนุนกฎระเบียบและข้อห้ามของรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทุ่มเทในการจูงใจให้เกิดพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากพอ โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานสะอาดและการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ริชาร์ด โคป กล่าวสรุป

ข้อมูลสำหรับบรรณาธิการ
*ข้อมูลลำดับความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พฤติกรรมการซื้อ การมีส่วนร่วม และระดับความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนของผู้บริโภคใน 16 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย
**ไม่รวมประเทศจีน

การศึกษา Global Outlook on Sustainability: A Consumer Study ประจำปี 2023 ของมินเทล อธิบายถึงลำดับความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พฤติกรรมการซื้อ การมีส่วนร่วม และระดับความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนของผู้บริโภคใน 16 ประเทศ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการวิจัยและแนวทางที่มินเทลสามารถช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่นี่ สามารถขอเอกสารงานวิจัยและบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมของริชาร์ด โคป ได้ที่ Mintel Press Office