เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 ก.ย. 2567 ที่สถาบันวิชาการ เอ็นที จ.นนทบุรี แกนนำเยาวชนนักรณรงค์งดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยง YSDN สนับสนุนโดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ(สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานเยาวชนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ตอน The power of change พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เด็กและเยาวชน อยู่ในช่วงวัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็ก วัยรุ่น สู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนี้สังคมมีปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามต่อสุขภาพเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด ส่งผลต่อการเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้ามีเด็กและเยาวชนสูบมากขึ้นจากเดิม 78,742 คน ในปี 2564 เพิ่มเป็น 709,677 คน ในปี 2565 เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน หากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเยาวชน แม้มีแนวโน้มลงลงเหลือ 20.9% หรือ 1.9 ล้านคน แต่การเริ่มต้นดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยมีผลต่อพัฒนาการ ทั้งสมองส่วนหน้า (การวางแผน) สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ (ความจำ สมาธิการควบคุมตนเอง) นำไปสู่การเป็นโรคติดแอลกอฮอล์ในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การใช้สารเสพติดชนิดอื่น และปัญหาครอบครัว ที่พบการดื่มมีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากถึง 1 ใน 4 ของความรุนแรงในบ้าน
“สสส. ให้ความสำคัญในการดูแลและส่งเสริมให้เยาวชนเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีสุขภาพพัฒนา จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำเยาวชนนักรณรงค์งดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยง YSDN (Youth Strong and Development Network ) ให้เป็นต้นแบบแกนนำในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลดนักดื่มหน้าเก่า ร่วมเป็นเจ้าของประเด็น นำไปสู่การขับเคลื่อนงานด้านสังคม โดยสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ใช้พลังแห่งการสร้างสรรค์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเป็นให้กำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป” ผจก. กองทุน สสส. กล่าว
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงบทบาท กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญประเด็นปัจจัยเสี่ยง การส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามีการประสานกับทางตำรวจ จับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่รอบสถานศึกษาทุกแห่งอย่างเป็นรูปธรรม ปราบปรามช่องทางออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ความรู้แก่ชุมชนสถานศึกษา เกี่ยวกับข้อกฎหมายและอันตรายจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า จากการสำรวจของกรมควบคุมโรค พบว่าเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 17.6% และเกือบทั้งหมดซื้อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยผลิตให้มีรูปแบบเป็นตัวการ์ตูน กล่องนม ให้ดูเป็นเรื่องธรรมดา เข้าถึงง่าย จนเด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว นับเป็นภัยคุกคามเยาวชนที่ต้องเร่งจัดการโดยด่วน
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวเสริมว่า เด็กที่อยู่ในสถานพินิจ ประมาณ 68% เป็นเด็กที่มีประวัติเหมือนกันคือ ถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน เด็กจะรู้สึกเป็นผู้แพ้ ไม่ถูกยอมรับ มีโอกาสที่จะเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก่อให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรม ซึ่งบ้านกาญจนาฯ เน้นทำกระบวนการความคิดกับเด็กจนเกิดความไว้ใจ ผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารพูดเคย เปิดใจรับฟัง ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า “วิชาชีวิต” มุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม และส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้านกระบวนการรู้คิด จากสถิติเยาวชนที่ผ่านกระบวนการนี้ ทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทำความผิดซ้ำน้อยกว่า 6% ถือเป็นกระบวนการที่ช่วยปกป้องสังคมและส่งคืนเด็กและเยาวชนให้มีความเข้มแข็ง ภูมิคุ้มกันด้านปัจจัยเสี่ยง และกลับคืนสู่สังคมได้จริง
นายฐิติวัฒน์ คุ้มกัน แกนนำเครือข่ายเยาวชน YSDN กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชน YSDN ได้รวบรวมความคิดเห็นจากเยาวชนทั่วประเทศผ่านออนไลน์ จำนวน 1,259 คน โดยได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก “เสียงจากใจเยาวชนทั่วไทย”ถึงผู้จัดการกองทุน สสส กระทรวงศึกษา และตัวแทนพรรคการเมือง 4 พรรค (พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ) โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเด็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ โดยพบว่า 5 ประเด็นที่เยาวชนมีความต้องการมากที่สุดคือ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า (ร้อยละ 99.60) รองลงมาคือ ควบคุมการใช้ยาเสพติดเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และประชาชน พร้อมลดภาระแพทย์ และป้องกันการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยง พร้อมมาตรการป้องกัน (ร้อยละ 99.44) จัดสรรบริการสุขภาพที่เท่าเทียม ครอบคลุมทุกเพศวัย พร้อมส่งเสริมนโยบายความรู้ด้านสุขภาพ (ร้อยละ 99.36) จัดให้มีโปรแกรมเตรียมเยาวชนเข้าสู่ตลาดงาน เช่น ฝึกงาน, ให้คำปรึกษาอาชีพ, และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (ร้อยละ 99.36) และส่งเสริมเด็กนอกระบบให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (ร้อยละ 99.21)
นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การจัดรวมพลังถอดบทเรียนมีตัวแทนแกนนำกลุ่มเยาวชน YSDN 128 กลุ่ม รวม 200 คน เช่น การรณรงค์งานประเพณีปลอดเหล้าบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า การเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย กิจกรรมจิตอาสาช่วยทาสีโรงเรียน จิตอาสากู้ภัย การอนุรักษ์ธรรมชาติ จัดการเล่นดนตรีกีฬา การช่วยเหลือแนะนำรุ่นน้องรุ่นพี่ เป็นต้น โดยตัวแทนที่ได้มาร่วมถอดบทเรียนได้สะท้อนพลังของเยาวชนไม่ใช่ผู้ที่เป็นเหยื่อจากปัญหา แต่เป็นผู้ร่วมมือแก้ปัญหา และได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ แต่ยังต้องการหนุนเสริมและความเข้าใจจากผู้ใหญ่ใจดี ซึ่งทางเครือข่ายฯ จะนำเอาบทเรียนมาต่อยอดและสนับสนุนน้องๆ ต่อไป