“วราวุธ” หนุน ปั้น “ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ” หวัง แก้วิกฤติประชากร ให้ผู้สูงอายุมีคนดูแล

0
12

วันที่ 15 มกราคม 2568 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “Kick Off การอบรมหลักสูตรผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ”

พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ปีงบประมาณ 2568 และกล่าวทักทายผู้เข้ารับการอบรมฯ จากภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตกในห้องประชุมฯ และผู้เข้ารับการอบรมฯ จากภาคเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. เข้าร่วมงาน และมีนายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวรายงาน ในงานเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รมว.พม. บรรยายพิเศษ “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติประชากร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรเป็นมิติหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เฉลี่ยปีละประมาณ 500,000 คน ในขณะที่อัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลง ซึ่งแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะอยู่ลำพัง ถูกทอดทิ้ง และขาดผู้ดูแลเพิ่มขึ้น นับเป็นประเด็นปัญหาท้าทาย ที่ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมพร้อมในการรองรับและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน

ทั้งนี้กระทรวง พม. จึงได้กำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย 5 x 5 ฝ่าวิกฤติประชากร ซึ่งข้อเสนอที่ 3 คือการสร้างพลังผู้สูงอายุ ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยจัดทำ “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ในชุมชน” เพื่อสร้างผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือ ดูแล คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ตามอุดมการณ์ที่ว่า “ปกป้อง คุ้มครอง เพื่อประชาชนแข็งแรง ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนร่มเย็น ด้วยความรัก เสียสละอดทน”

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อปี 2567 กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ขับเคลื่อน “โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” ทำให้มีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรม จำนวน 35 คน ซึ่งสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ 20,000 กว่าคน ใน 19 พื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก สุพรรณบุรี นครปฐม สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สกลนคร อุบลราชธานี สงขลา และปัตตานี

ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกรมกิจการผู้สูงอายุ จำนวน 240 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 90 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 60 ชั่วโมง และการฝึกงาน 90 ชั่วโมง สำหรับปี 2568 กระทรวง พม. ตั้งเป้าขยายผลโครงการฯ ใน 156 พื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้มีผู้บริบาลฯ เพิ่มขึ้นอีก จำนวน 307 คน คาดว่าจะสามารถดูแลผู้สูงอายุได้หลาย 100,000 คน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) ทั้ง 6 แห่ง เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดอบรมร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ก่อนการปฏิบัติหน้าที่จริง ในเดือนเมษายน 2568 และในปีหน้าได้ตั้งเป้าไว้ให้มีผู้บริบาลฯเพิ่มเป็น 3,000 คน และเพิ่มต่อเนื่องทุกปี

นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. มุ่งหวังว่าผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการแบ่งเบาภาระของคนรุ่นใหม่ ที่มีความกังวลว่าผู้สูงอายุในครอบครัวจะไม่มีคนดูแล และการมีผู้บริบาลฯ ยังเป็นการสร้างอาชีพใหม่ให้กับชุมชน ซึ่งมีค่าตอบแทนให้กับผู้บริบาลฯ 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. ตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณผู้บริบาลฯ เพื่อให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น สำหรับประชาชนที่สนใจเข้ามาเป็นเครือข่าย สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด

ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #5×5ฝ่าวิกฤติประชากร #พมหนึ่งเดียว #วราวุธศิลปอาชา #ศบปภ #ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ #ผู้สูงอายุ #ผส #กรมกิจการผู้สูงอายุ