วช. โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ด้านแผ่นดินไหว หนุนงานวิจัยเพื่อรับมือภัยธรณีพิบัติ “เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง”

0
446

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงานแถลงข่าว “เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง”

พร้อมด้วย ศ. ดร.วันชัย ดีเอกนามกูลคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ของ วช. ซึ่งภายในงานได้จัดการแถลงข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดย ผศ. ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ประกอบด้วย ประเด็น “ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง” โดย รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ประเด็น “ลักษณะรอยเลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง” โดย รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเด็น “ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อโครงสร้าง” โดย ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประเด็น “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง” โดย รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาคาร วช.8

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 น. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ จากรายงานข่าวของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย พบผนังบ้านและโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญ ตำบลปากทางอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เกิดรอยร้าวเล็กน้อย ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอยู่ ในความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 4 – 5 (เบา-ปานกลาง) ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้างทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ทันต่อเหตุการณ์ตามหลักวิชาการให้กับประชาคมวิจัยและประชาชนทั่วไป วช. ภายใต้กระทรวง อว. โดย ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านแผ่นดินไหว (Earthquake Research Center of Thailand) ภายใต้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ภายใต้โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) จึงได้จัดแถลงข่าว เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 4.5 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ขึ้นในวันนี้ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายประเด็นอันจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคต

รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง นั้นส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดเลย รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ซึ่งเกิดจากรอยเลื่อนซ่อนตัวอยู่ใต้ดินไม่เคยมีพลังงาน นอกเหนือจาก 16 รอยเลื่อนที่มีพลังงาน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 100 ปี บริเวณแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้คู่ขนานกับแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ทางตะวันออกของศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวมีการคาดว่าเป็นรอยเลื่อนรอบแขนงของรอยเลื่อนที่มีพลังงาน เกิดการสะสมพลังงานในตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการสั่นไหว และเป็นรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นบนพื้นดิน ในทางวิศวกรรมศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ คณะทีมนักวิจัยจึงได้ออกแบบโมเดลแผนที่จำลองที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในการประเมินสถานการณ์เพื่อออกแบบอาคารให้มีความแข็งแรง ซึ่งแผนที่ป้องกันความเสี่ยงว่าพื้นที่ตรงไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวจะมีส่วนช่วยในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างทันท่วงที และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อคลายความกังวล

รศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ลักษณะรอยเลื่อนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง นั้น สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป ทางกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ประวัติการเกิดเหตุแผ่นดินไหวใน จ.พิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2566 ขนาด 4 – 4.9 พบจำนวน 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3 จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อรอยเลื่อนมีพลังมากในบริเวณใกล้เคียงในพื้นที่ ทีมนักวิจัยได้นำงานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยและสนับสนุนการวางแผนลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไปในอนาคต

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อโครงสร้าง ประชาชนสามารถรับรู้และรู้สึกได้ แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เราจึงต้องเตรียมรับมือ อยากให้คนไทยตระหนักแต่อย่าตระหนก และเราสามารถรับมือด้วยมาตรการทางโครงสร้างและกฎหมาย

รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต เพื่อเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างอาคารที่ปลอดภัย ดังนั้นเจ้าของอาคารต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารในการรองรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และเสริมความแข็งแรงของอาคารเพื่อมิให้เกิดความสูญเสียในอนาคต