วช. โชว์ฝีมือนักวิจัย ม.นเรศวร ส่ง “ส้มโอฉายรังสี” ของดีเมืองชาละวัน ผลักดันผลไม้ไทยก้าวไกลสู่สากล

0
572

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ทุนสนับสนุนแก่ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมความสำเร็จของโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ณ สวนลุงแล และศูนย์ส่งออกส้มโอบ้านโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ม.นเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา การดำเนินโครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ดำเนินการวัดการกระจายปริมาณรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ (กล่องที่บรรจุส้มโออยู่ภายใน) โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา มาร่วมดำเนินการรับรองผลไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยโครงการดังกล่าวมีเกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 2 ราย ได้แก่ คุณแล โพธิ์วัด แห่งสวนลุงแล และคุณบุญเกิด มีทวี แห่งศูนย์ส่งออกส้มโอบ้านโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นอย่างดี

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สดของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ และในปัจจุบันทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฏระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับจังหวัดพิจิตร เป็นจังหวัดที่มีการปลูกส้มโอมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะส้มโอท่าข่อย ซึ่งเป็นส้มโอพันธุ์ดั้งเดิมของพื้นที่ มีเนื้อชมพู ฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ส่งผลดีต่อสุขภาพ นอกจากส้มโอท่าข่อยแล้ว เกษตรกรยังมีการนำส้มโอสายพันธุ์อื่นมาปลูกในพื้นที่อีกด้วย เช่น ส้มโอขาวแตงกวา ส้มโอทับทิมสยาม ส้มโอทองดี ส้มโอขาวน้ำผึ้ง เป็นต้น

การลงพื้นที่สวนลุงแล และศูนย์ส่งอออกส้มโอบ้านโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิติร ในครั้งนี้ คณะนักวิจัยได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนส้มโอที่เกษตรกรได้ทำการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงเยี่ยมชมกระบวนการคัดเลือกและบรรจุส้มโอที่ได้มาตรฐาน พร้อมที่จะส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรต ซาอุดิอาระเบีย และส้มโอที่ผ่านการฉายรังสี ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) แล้วนั้น จะถูกส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป นอกจากนี้ คณะนักวิจัยมีกำหนดการที่จะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo East 2023 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 20 – 23 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของนักวิจัยไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ที่สามารถผลักดันให้ผลไม้ไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและก้าวไกลในตลาดโลก