วช. แถลงข่าว Genius Lunch ภูมิปัญญาอาหารกลางวันจากวัตถุดิบชุมชนสร้างคนอัจฉริยะ

0
92

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์และขยายผลโครงการภูมิปัญญาอาหารกลางวันจากวัตถุดิบชุมชนสร้างคนอัจฉริยะ (Genius Lunch) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยภายใต้โครงการวางระบบการผลิตอาหารปลอดภัยในระดับตำบลสู่อาหารคุณภาพในโรงเรียนที่มีเป้าหมาย และส่งเสริมการพัฒนาอาหารกลางวันที่มีคุณภาพสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรงแก่เยาวชนไทย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วช.

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการ Genius Lunch ซึ่งเป็นกลไกที่ออกแบบเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ได้แก่ SDG 2: ขจัดความหิวโหย, SDG 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ, และ SDG 10: การลดความเหลื่อมล้ำ โดยโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ในการสร้างต้นแบบระบบการจัดการอาหารกลางวันที่ระดับตำบล โดยได้รับการสนับสนุนด้านวัตถุดิบและแรงงานจากชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการบริโภคอาหารที่ดีและยั่งยืน

นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการโครงการ “การวางระบบการผลิตอาหารปลอดภัยในระดับตำบลสู่อาหารคุณภาพในโรงเรียน ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์” โดย ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้ร่วมการเสวนาในหัวข้อ “เด็กอัจฉริยะสร้างได้ด้วยความยั่งยืนทางด้านอาหาร” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและสุขภาวะ ได้แก่ นายเพ็ชร ประภากิตติกุล ผู้อำนวยการโครงการ Sustainism, นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ, พญ.ณภัคจิรา ลิขสิทธิ์ธนานนท์ กุมารแพทย์ และ นางสาวชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ

โครงการ Genius Lunch มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและเยาวชนไทยในหลายมิติ ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีผ่านโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง มีพัฒนาการทางกายและจิตใจที่ดี พร้อมสำหรับการศึกษาและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ โครงการยังสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นในการผลิตอาหารกลางวัน ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เกิดการจ้างงานและหมุนเวียนรายได้ในระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังสร้างระบบการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยได้รับการปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกด้านการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว