วช. เสริมการท่องเที่ยวเบตง ยะลา จากผลสำเร็จโครงการพัฒนาต้นแบบเกษตรผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามวิถีชุมชน

0
485

วันที่ 26 สิงหาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ประกอบด้วย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นายประลอง ดำรงไทย นายสมบูรณ์ วงค์กาด รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ นายธานินทร์ ผะเอม และ ดร.สุพจน์ อาวาส พร้อมด้วย นางสาวสุภาพรรณ โทขัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วช. นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงาน โครงการวิจัย เรื่อง “โครงการพัฒนาต้นแบบเกษตรผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามวิถีชุมชนของบ้านปิยะมิตร 3 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้” ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดย ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะ นายหว่างหลาย แซ่หลิน เจ้าของสวนต้นแบบเกษตรแบบผสมผสาน ให้การต้อนรับ ณ หมู่บ้านปิยะมิตร 3 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. กล่าวว่า อยากให้เน้นในเรื่องของการเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างสร้างสรรค์ โดยการสร้างแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมกับชุมชน การสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตการเกษตรที่ผสมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชน ผสานเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในระยะยาว

ดร.กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ผลสำเร็จโครงการพัฒนาต้นแบบเกษตรผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามวิถีชุมชนของบ้านปิยะมิตร 3 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ นั้น เกษตรผสมผสานเป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกหรือการเลี้ยงสัตว์หลาย ๆ ชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ภายใต้การเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการของการอยู่ร่วมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าหมู่บ้านปิยะมิตร 3 มีจุดเด่นทางด้านอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ มีจุดท่องเที่ยว คือ น้ำตกสอยดาว เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งพาตนเองมีการทำเกษตรแบบผสมผสาน สู่การสร้างต้นแบบเกษตรผสมผสานตามแนวคิดทฤษฎีใหม่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาต้นแบบเกษตรผสมผสานที่เหมาะสมตามหลักทฤษฎีใหม่ เมื่อบริหารพื้นที่ได้สมดุลก็สามารถสร้างผลผลิตที่ดี และขยับขยายไปสู่การทำธุรกิจเกษตรโดยการรวมกลุ่มร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรที่ดำเนินแนวทางเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี เครื่องมือเกษตรต่าง ๆ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายหว่างหลาย แซ่หลิน เจ้าของสวนต้นแบบเกษตรแบบผสมผสาน กล่าวว่า หมู่บ้านปิยะมิตร 3 ตำบลอัยเยอร์เวง นั้น ชาวชุมชนของเรานั้นรายได้หลักของเรามาจากการทำเกษตรแบบผสมผสานเป็นระบบการเกษตร ที่มีการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์หลาย ๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ และทุเรียนที่ขึ้นชื่อของที่นี่คือทุเรียนมูซังคิง ไม่นานมานี้ชุมชนของเรานั้นพึ่งได้รับรางวัลอันดับที่ 2 จากการประกวดทุเรียนพันธุ์แปลือกแดง ซึ่งโครงการวิจัยนั้นมีส่วนช่วยในการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว พักโฮมสเตย์ เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน เกิดการส่งเสริมอาชีพ ยกระดับรายได้ให้กับชุมชน