วช. เผยแนวโน้มสถานการณ์น้ำ ปี 67 – 68 สามารถรับมือภัยแล้งได้ดียิ่งขึ้น

0
323

วันที่ 12 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตระหนักถึงสถานการณ์น้ำที่แปรปรวน การปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง สลับกันไป จึงมีงานวิจัยที่ช่วยในการเพิ่มความถูกต้องในการทำนาย จำลองสภาพล่วงหน้า ช่วยในการตัดสินใจ และเตรียมตัว รับมือกับภัยแล้ง และภัยน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น วช. จึงจัดให้มีการแถลงข่าว “แนวโน้มสถานการณ์น้ำ 67 – 68 และมาตรการการปรับตัว”

โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ พร้อมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหาร วช. ซึ่งมี รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานบริหารแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานบริหารจัดการน้ำ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ดร.กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ผศ. ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ และผศ. ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมการแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แผนงานสำคัญของประเทศ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถสนับสนุนการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วช. ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบ โครงการ แผนงาน และแผนงานชุดโครงการขนาดใหญ่ หรือแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานบริหารจัดการน้ำ ที่มี รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เป็นประธานบริหารแผนงาน การจัดงานในครั้งนี้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำของประเทศ อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน และนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานบริหารจัดการน้ำ เพื่อบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำรวมถึงการขับเคลื่อนสังคมและสร้างวัฒนธรรมรักษ์น้ำและการประหยัดน้ำ เพื่อให้สามารถผลักดัน ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.กนกศรี ศรินนภากร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และ ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่าจากการคาดการณ์พบว่าใน และปีหน้าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะลานีญาช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 ฝนจะน้อย โดยฝนจะตกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน โดยจะมีแนวโน้ม 2 รูปแบบ คือ ลานีญาแบบปกติ หรือลานีญาแบบอ่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะกลับมาแล้งอีกในปี พ.ศ. 2571 การบริหารปริมาณน้ำในเขื่อนจึงต้องวางแผนล่วงหน้า 2 ปี และ ควรประเมินสถานการณ์น้ำตามตำแหน่งของพื้นที่ซึ่งได้รับน้ำจากฝนทุก 2 เดือน

ผศ. ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติม แบบจำลองปริมาณน้ำท่าในปี 2567-2568 มีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 หากช่วงฤดูฝนของปี 2567 มีการพัฒนาเข้าสู่สภาวะลานีญารุนแรง จะทำให้ปริมาณน้ำ สูงถึง 14,000 ล้าน ลบ.ม. รูปแบบที่ 2 หากช่วงฤดูฝนของปี 2567 มีการพัฒนาเข้าสู่สภาวะลานีญาอ่อน จะทำให้ปริมาณน้ำมีประมาณ 6,000 – 8,000 ล้าน ลบ.ม. และรูปแบบที่ 3 หากในช่วงฤดูฝนของปี 2567 สภาวะลานีญาอยู่ในระดับปกติ และในปี 2568 ปริมาณน้ำจะอยู่ที่ระดับประมาณ 6,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเชื่อมโยงถึงการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานและแนวทางการปรับตัวของภาคเกษตร

โดย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ กรมชลประทาน และ ผศ. ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งกรมประทานได้นำข้อมูลจากการพยากรณ์เหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับปริมาณน้ำจริงในอ่างเก็บน้ำ ช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนเข้าจะเข้าฤดูฝนตามการคาดการณ์ ปริมาณน้ำกักเก็บที่เพียงพอต่อการ อุปโภค บริโภค และสิ่งแวดล้อมในประเทศคือ ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากกักเก็บน้ำได้มากกว่าจะเป็นน้ำส่วนที่นำส่งเพื่อการเกษตร แต่ในส่วนนอกเขตชลประทานจะต้องมีการเตรียมตัวเพื่อลดผลกระทบเมื่อฝนทิ้งช่วง เช่น การเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ การใช้เทคโนโลยีในการให้น้ำ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้น้ำพืช การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูก

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ สรุปการแถลงข่าวครั้งนี้จึงเป็นการเสนอการคาดการณ์ และทางออกของการจัดการปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อตั้งเป้าหมาย ลดความเสี่ยง ลดความเสียหาย ยั่งยืนแบบยืดหยุ่น รวมทั้งสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการปรับพฤติกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสถานการณ์น้ำใน ปี 67 – 68