วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัย การจัดการความรู้การวิจัยและการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จ ในงาน NRCT Open House 2022

0
996

วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนในปี 2566 ระหว่างวันที่ 12 – 19 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom รวมทั้งการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ


วันที่ 15 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM) ประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 จัดขึ้นเป็นวันที่สี่แล้ว วันนี้เป็นการประชุมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM) ประจำปีงบประมาณ 2566 และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่ง วช. มุ่งมั่นส่งเสริมเส้นทางการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปัจจัยการนำเข้า ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ การใช้ประโยชน์จาก KM 4 มิติ ได้แก่ เชิงความั่นคง เชิงชุมชนสังคม การพัฒนาชุมชนพึ่งพาตนเองตามแนวทางพระราชดำริ และเชิงนโยบายสาธารณะ รวมไปถึงการสร้างนักวิจัยอาชีพที่สามารถสร้างองค์ความรู้และผลิตผลงานที่มีคุณภาพสูงในระดับสากล รวมถึง ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูงต่อไป

ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า ปัญหาการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ที่ผ่านมามีหลายประเด็น เช่น การจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามีปัญหา, งบประมาณในการต่อยอดจัดการความรู้การวิจัยภาครัฐไม่มีงบให้, เอกชนไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงทุนเพื่อการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย, หน่วยงานภาครัฐขาดการพัฒนา บูรณาการในการนำเอาผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น ในปัจจุบัน ภาครัฐและภาคเอกชนมีการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการพัฒนาในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ยังต้องหาทางแก้ไข

“พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 (TRIUP ACT) จะช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัย ช่วยกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการ ทั้งด้านการกำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่ง พรบ. ดังกล่าว มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา” ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอทุน KM ใน 4 มิติการใช้ประโยชน์” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์, นายสมบูรณ์ วงค์กาด, พลเอก กนก ภู่ม่วง และนางแน่งน้อย เวทยพงษ์ โดยมี ดร.สุพจน์ อาวาส เป็นผู้ดำเนินรายการ การซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์, นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ และนายธีรวัฒน์ บุญสม รวมถึงการนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS โดย นายเอนก บำรุงกิจ และปิดท้ายด้วยการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.สุพจน์ อาวาส, ดร.มารยาท สมุทรสาคร, ดร.อันธิกา บุญแดง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรวัฒน์ ปลาเงิน, รองศาสตราจารย์ ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ และนายวรพจน์ โพธาเจริญ โดยกิจกรรม NRCT Open House2022 : ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ การออกแบบความรู้ที่เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ เสริมศักยภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการสร้างนวัตกรรมชุมชนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการรับและปรับใช้นวัตกรรมพร้อมใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบท สามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้อื่นได้รวมทั้งสามารถเป็นแกนนำในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อหนุนให้ชุมชนมีพื้นที่และโอกาสเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำหรับการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th