วช. หนุน วท.สุราษฎร์ธานี เดินหน้าส่งต่อองค์ความรู้ “เตาอบรมควันปลาเม็ง ระบบอัตโนมัติ” สู่ชุมชนบ้านห้วยทราย ต่อยอดแปรรูปปลาเม็งสู่ผู้บริโภค ส่งเสริมเป็นสินค้า GI

0
456

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมนวัตกรรมเพื่อเกษตรชุมชน “เตาอบรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ” ของ นายเกียรติศักดิ์ เส้งพัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ และนายวีระพล บุญจันทร เป็นผู้ร่วมโครงการวิจัย

โดยมี ดร.ธวัช ไชย ลิ้มสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาโครงการ และให้เกียรติมาร่วมงาน ณ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาเม็ง หมู่ที่ 3 ตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม “Thailand New Gen Inventors Award 2023” (I-New Gen Award 2023) จาก วช.

นายวีระพล บุญจันทร ผู้ร่วมโครงการวิจัย กล่าวว่า “ปลาเม็ง ถือเป็นปลาประจำท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาเม็งอย่างแพร่หลายริมแม่น้ำตาปีและร่องสวนปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่อำเภอบ้านนาเดิม บ้านนาสาร พระแสง และเคียน ปลาเม็งเป็นปลาที่มีรสชาติดี มีลักษณะเฉพาะที่มีเนื้อเหนียวเป็นเส้น ไม่เปื่อยยุ่ย และมีรสชาติหอม หวาน สินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะยำปลาเม็ง และต้มโคล้งปลาเม็ง อาหารขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคาปลาเม็งสด ขายในราคา กิโลกรัมละ 400-600 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาเม็งตากแห้ง ปลารมควัน ขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 2,400-3,500 บาท เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารเมนูยำปลาเม็ง โดยใช้เนื้อปลาเม็ง 1 ขีด สามารถขายได้ในราคา 400 บาท”

จากการศึกษากระบวนการแปรรูปปลาเม็งรมควันของวิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้บ้านห้วยทราย พบว่า กระบวนการตากปลาในที่โล่ง ทำให้ใช้เวลาตากนาน 4 – 5 ชั่วโมง มีแมลงตอมและวางไข่ มีปัญหากลิ่นไม่พึ่งประสงค์ รวมถึงไม่สามารถตากปลาในช่วงหน้าฝนได้ และที่สำคัญสินค้าไม่มีคุณภาพ เก็บไว้นานไม่ได้ ทั้งนี้ กระบวนการรมควันประสบปัญหาหลายด้าน อาทิสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาก หากใช้ระบบแก๊สหรือไฟฟ้าก็สิ้นเปลืองพลังงานมาก และใช้เวลาในการอบควันนาน 3 วัน ต้องคอยพลิกกลับตลอดเวลา ทำให้ผลิตภัณฑ์ปลาเม็งรมควันแห้งไม่สม่ำเสมอ ปลาที่รมควันไหม้เสียหายจนไม่สามารถขาย หรือนำไปรับประทานได้ นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปแบบเปิดเพื่อรมควันปลา ทำให้ควันกระจายก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 ติดตามมา และวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ห้วยทรายต้องการผลักดันผลิตภัณฑ์ปลาเม็งเข้าสู่มาตรฐาน อาหารปลอดภัย และสินค้า GI รวมไปถึงการยกระดับมาตรฐาน Primary GMP และมาตรฐานอื่น ๆ ด้วย

นายวีระพล บุญจันทร ผู้ร่วมโครงการวิจัย กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าวคณะผู้วิจัยจึงเกิดแนวคิดแก้ปัญหาโดยใช้พลังงานโซล่าเซลล์เข้ามาใช้ในกระบวนการแปรรูปเพื่อประหยัดพลังงาน โดยจุดเด่นของผลงานนวัตกรรมเตาอบรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ สามารถอบแห้งและรมควันได้ในเครื่องเดียว ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและพลังงาน ทดแทนการตากแดดและรมควันบนตะแกรงระบบเปิด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ สามารถผลิตในช่วงที่ไม่มีแสงแดดหรือฝนตกได้ โดยกำลังการผลิต 30 กิโลกรัมสด ใช้เวลาอบและรมควัน 12 ชั่วโมง จะได้ปลารมควันแห้งน้ำหนัก 10 กิโลกรัม นอกจากนี้นวัตกรรมเตาอบรมควัน ยังสามารถนำไปอบสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้

ทั้งนี้ นวัตกรรมเตาอบรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติ ได้ส่งมอบไปให้วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้บ้านห้วยทราย อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ชุมชนแห่งนี้แปรรูปปลาได้ง่ายขึ้น ลดระยะเวลาการทำงาน และลดการฟุ้งกระจายของควัน ช่วยพัฒนาต่อยอดสินค้าอัตลักษณ์ชุมชนแบบครบวงจร ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านสำหรับจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน

ด้าน นายกิตติศักดิ์ นาคกุล (ผู้ใหญ่โต) ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาเม็ง กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาเม็ง ได้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ร่วมพัฒนาต่อยอดแปรรูปปลาเม็งในเชิงธุรกิจ เช่น ต้มโคล้งปลาเม็ง ปลาเม็งย่างรมควัน และยำปลาเม็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน GMP, อย. และเป็นสินค้า GI ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว อีกทั้งได้พัฒนาทางการตลาดเพิ่มขึ้นโดยวางจำหน่ายในเครือเซ็นทรัล ,7-11 และออนไลน์ อีกด้วย