วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ดำเนินโครงการฯ โดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นในการตรวจสอบคุณภาพ เตรียมพร้อมการส่งออกในอนาคตและเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้มาปรับใช้ เพื่อให้เกิดผลิตผลที่มีคุณภาพ ณ สวนหลินลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่ง ม.นเรศวร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ ม.นเรศวร ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นในการตรวจสอบคุณภาพ เตรียมพร้อมการส่งออกในอนาคตและเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้มาปรับใช้ เพื่อให้เกิดผลิตผลที่มีคุณภาพ การผลิตทุเรียนที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแลเป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมือง เนื้อสีเหลืองอ่อนนุ่ม กลิ่นหอม และรสชาติหวาน ปัจจุบันได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ปริมาณไม่พอเพียงต่อความต้องการของผู้บริโภคและมีราคาสูง ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนควรเร่งเตรียมความพร้อมรองรับตลาดใหม่ โดยพัฒนายกระดับการผลิตทุเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นพร้อมเข้าสู่ระบบ GAP และโรงคัดบรรจุต้องขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรอง GMP เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและไร้สารพิษตกค้าง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าและผู้บริโภคได้
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่อว่า ต่อมา วช. ได้สนับสนุนทุนแก่คณะนักวิจัยร่วมมือผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภคหลายแห่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ผ่านโครงการวิจัย เรื่อง “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” เพื่อแก้ปัญหาการขนส่งทุเรียนทั้งผล เนื่องจากการขนส่งผลไม้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงและผลไม้อาจได้รับความเสียหายขณะทำการขนส่งหรือวางจำหน่าย ณ ประเทศปลายทาง เมื่อนำเนื้อออกจากเปลือกทุเรียนแล้วเนื้อผลมีอายุในการเก็บรักษาสั้น จึงเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของการส่งออกและการวางจำหน่าย ซึ่งการทำทุเรียนสดตัดแต่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ทั้งนี้บรรจุภัณฑ์เพื่อเก็บทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภคนั้นต้องออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อคงความสดไว้ให้ยาวนาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีสิ่งเจือปนหรือสารพิษตกค้างรวมถึงได้มาตรฐานสากลและจะต้องขนส่งผ่านทางเครื่องบิน เนื่องจากทุเรียนเป็นไม้ผลที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น และเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การขนส่งทางเครื่องบินจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับขนส่งทุเรียนเพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยทางคณะนักวิจัยได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ดูดกลิ่นดูดความชื้น ร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการส่งออก พร้อมกับการประเมินคุณภาพที่เหมาะสมของทุเรียนตัดแต่งเนื้อพร้อมบริโภคเพื่อการส่งออกแบบไม่ทำลายผลิตผลด้วยเครื่องยิงรังสีอินฟราเรดย่านใกล้ (NIR) ซึ่งการใช้บรรจุภัณฑ์ดูดกลิ่นดูดความชื้นร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนส่งผลให้สภาพแวดล้อมภายในกล่องไม่มีหยดน้ำเกาะ ลดกลิ่นรบกวน และที่สำคัญ คือ ชะลอการสุกแก่ของผลทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภคได้เป็นระยะเวลา 28 วัน ที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการส่งออกทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภค สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย
การลงพื้นที่เยี่ยมสวนทุเรียนครั้งนี้ ได้รับการต้อนรับจากคุณสุภาพ ปันลาด หรือคุณจิ๊บ จากสวนบ้านหลินลับแล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยคุณจิ๊บ และคณะนักวิจัย นำโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมสวนทุเรียนบ้านหลินลับแล ซึ่งมีการปลูกทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้ง หลินลับแล หลงลับแล และหมอนทอง ซึ่งคุณปู่ของคุณจิ๊บ ได้แก่ นายหลิน ปันลาด คือต้นกำเนิดของตำนานทุเรียน “หลินลับแล” อันเลื่องชื่อแห่งเมืองลับแลนั่นเอง สวนหลินลับแลได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตและชะลอความสุกของทุเรียนผ่านโครงการวิจัยดังกล่าว ซึ่งคณะนักวิจัยจาก ม.นเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก วช. นอกจากนี้ สวนหลินลับแลได้ทำการสร้างโรงคัดบรรจุและนำเนื้อออกจากเปลือกทุเรียน เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย ขณะนี้สวนหลินลับแลอยู่ระหว่างดำเนินการขอการรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อให้สามารถนำทุเรียนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ และกล่าวได้ว่า “ทุเรียนไทย ก้าวไกลด้วยวิจัยและนวัตกรรม”