วช. หนุน มรภ.เชียงใหม่ นำกระบวนการวิศวกรสังคม พัฒนาชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม

0
431

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาชุมชนด้วยวิศวกรสังคม
ณ โรงเรียนบ้านกองแหะ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ร่วมสนับสนุนการนำนักศึกษาวิศวกรสังคมที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ให้สามารถแก้โจทย์ปัญหาในพื้นที่ และมีความพร้อมในคุณลักษณะการเป็น นักคิด นักสื่อสาร นักประสาน และนักสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน มาเสริมกระบวนการทำงานด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม เพื่อร่วมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรมชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง

อาจารย์ปภัส ฉัตรยาลักษณ์ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนด้วยแนวคิดวิศวกรสังคม มีนักศึกษาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาควบคู่ไปกับการบริการวิชาการสู่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่เกิดแก่นักศึกษาทางด้านการพัฒนา Soft Skills ตามแนวคิดวิศวกรสังคม ซึ่งเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาชุมชนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา โดยในพื้นที่บ้านกองแหะ นักศึกษาสามารถสร้างงาน สู่การสร้างนวัตกรรม ในจำนวน 4 นวัตกรรม ได้แก่ 1) บอร์ดเกม Adventure Kong Hae 2) บรรจุภัณฑ์และโลโก้สินค้า “พริกลาบบ้านกองแหะ” 3) เพลงซอคำเมือง “ตำนานกองแหะ” เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน และ 4) หลักสูตรแผนกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับค่ายทัศนศึกษาชุมชนบ้านกองแหะ ซึ่งผลงานทั้งในรูปแบบของโครงงานพัฒนาชุมชน และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย สอดคล้องกับบริบทหรือความต้องการของชุมชน

นายประยุกต์ ชัยเลื่อน ผู้ใหญ่บ้านกองแหะ กล่าวว่า ชุมชนบ้านกองแหะมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี และเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่โครงการพระราชดำริ ที่บ้านกองแหะมีพื้นที่ประมาณ 1,350 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขาและภูเขาสูงลาดเทลงสู่หุบเขาเล็ก ๆ ชาวบ้านทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโครงการวิศวกรสังคมจากทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

โครงการครุศาสตร์พัฒนาชุมชนด้วยแนวคิดวิศวกรสังคม มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนที่เชื่อมโยงลงไปสู่ท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้อย่างมีส่วนร่วม