วช. หนุน นักวิจัย จุฬาฯ สำรวจพื้นที่น้ำท่วมผ่านดาวเทียม ประเมินความเสียหายจากใต้ฝุ่นโนรู บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา

0
1057

นักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลประเมินความเสียหายวิกฤตน้ำท่วม จากใต้ฝุ่นโนรู บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบน้ำท่วมพื้นที่ 1,383,017 ไร่ ภาคการเกษตรเสียหาย 108,975 ไร่ มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 609 ล้านบาท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พงศ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำปีที่ 2 เพื่อประเมินผลกระทบและความเสียหายจากไต้ฝุ่นโนรู ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นโนรู ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการประเมินความเสียหาย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สามารถสนับสนุนการวางแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงได้เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด


การสำรวจพื้นที่ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA เท่านั้น เพื่อทำการประเมินจากข้อมูลหลักด้านกายภาพที่ผ่านมา เช่น พื้นที่น้ำท่วม พื้นที่ปลูกข้าว และประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในรูปแบบตัวเงิน โดยผลการประเมินพื้นที่น้ำท่วม และความเสียหาย จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า พื้นที่น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1,383,017 ไร่ โดยมีพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่ในจังหวัด นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ประมาณ 427,263 405,302 และ 206,287 ไร่ ตามลำดับ พื้นที่นาข้าวที่ถูกน้ำท่วม 108,975 ไร่ โดยมีพื้นที่นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ในจังหวัด นครสวรรค์ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 41,293 18,269 และ 15,842 ไร่ ตามลำดับ และความเสียหายของนาข้าวที่ถูกน้ำท่วม 609 ล้านบาท โดยมีความเสียหายส่วนใหญ่ในจังหวัด นครสวรรค์ สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา 213 118 และ 94 ล้านบาทตามลำดับและเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำว่ามี สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม 32 จังหวัด ภาคเหนือ 7 จังหวัด จังหวัดตาก พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และสุโขทัย ภาคกลาง 10 จังหวัด จังหวัดลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี สระบุรีและนครปฐม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด จังหวัดหนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ภาคตะวันออก 3 จังหวัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก ซึ่งขณะนี้วิกฤตน้ำท่วมได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะส่งผลให้ความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และใช้ประเมินผลต่อมาตรการที่ใช้กันต่อไป