วช. หนุนสามจังหวัดชายแดนใต้ ใช้งานวิจัย “แปรรูปโคเนื้อวากิว” สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

0
641

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม, นายสมบูรณ์ วงศ์กาด ผู้ตรวจสอบทางวิชาการ วช. และกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปโคเนื้อเพื่อเพิ่มรายได้กลุ่มเกษตรกรต้นแบบชายแดนใต้” ดำเนินการโดย ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข–แก้ว แก้วแดง ระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2566 โดยมี รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมา ประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ ณ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส

นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช. กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. โดย เครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ ได้สนับสนุนให้มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ทำการศึกษาวิจัยและทดลองเลี้ยงโควากิว ซึ่งเป็นโคเนื้อระดับพรีเมียมในระบบฟาร์ม ในชื่อ “ยะลาวากิวฟาร์ม” ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรชายแดนใต้ในการเลี้ยงโคแบบประณีตและเป็นอาชีพหลัก โดยการจัดตั้งศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเลี้ยงโคเนื้อขายแดนใต้ เพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงโคเนื้อแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลิต จากการเลี้ยงโคแบบปล่อยทุ่ง มาเป็นการเลี้ยงในโรงเรือน มีการทำอาหารหมักที่มีคุณค่าอาหารสูงโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุน พัฒนาสายพันธุ์โดยการผสมเทียม การรักษาและป้องกันโรค การใช้ประโยชน์จากมูลโค

โดยให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความพร้อม ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงเชือดชุมชน การแปรรูปเนื้อโคตามมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัวจนสามารถดำเนินงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อต้นแบบของจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ในการบริหารจัดการโรงเชือดชุมชน การแปรรูปโคเนื้อตามมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อโคอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้เกิดการขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่อื่น และ วช. พร้อมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมมาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อให้ดีขึ้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์โคเนื้อวากิวแปรรูปที่มีคุณภาพ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโคเนื้อแปรรูปได้

ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข–แก้ว แก้วแดง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ได้ทำการวิจัยและทดลองเลี้ยงโควากิว ซึ่งเป็นโคเนื้อระดับพรีเมียมในระบบฟาร์มชื่อ “ยะลาวากิวฟาร์ม” มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรชายแดนภาคใต้ในการเลี้ยงโคแบบประณีตและเป็นอาชีพหลักในอนาคต โดยมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปโคเนื้อเพื่อเพิ่มรายได้กลุ่มเกษตรกรต้นแบบชายแดนใต้” เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความพร้อม ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงเชือดชุมชน การแปรรูปเนื้อโคตามมาตรฐานฮาลาล และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว จนสามารถดำเนินงานได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ ในการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้” เพื่อทำการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงโคเนื้อแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการผลิตโคเนื้อชายแดนใต้จากการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง มาเป็น “การเลี้ยงแบบยืนโรง” มีระบบการจัดการฟาร์ม การทำอาหารผสมสำเร็จรูป (Total Mixed Ration – TMR) โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุน การพัฒนาสายพันธุ์โดยการผสมเทียม การรักษาและป้องกันโรคในโค การใช้ประโยชน์จากมูลโค และเกษตรกรรู้จักใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อให้ดีขึ้น

ดร.รุ่ง แก้วแดง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ให้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปโคเนื้อตามมาตรฐานฮาลาลและการตลาด โดยเน้นการฝึกอบรมวิธีการเชือดโคที่สะอาดและปลอดภัย การตัดแต่งเนื้อวัวอย่างมืออาชีพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหนังวัวยะลาวากิวโดยการนำไปทำแคบวัวเพื่อเพิ่มมูลค่า ในการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยือนและให้คำแนะนำเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านการฝึกอบรม คณะนักวิจัยพบว่า มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อบางแห่งที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่วิธีที่ดีกว่าหากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพร้อมจะเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลไปยังกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม

การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ คณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ วช. พร้อมด้วยคณะนักวิจัย และสื่อมวลชน ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงงานแปรรูปโคเนื้อที่ยะลาวากิวฟาร์ม พร้อมรับฟังการบรรยาย เรื่อง การมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ของเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้ โดย รศ.ดร.ก้าน จันทร์พรหมา ประธานเครือข่ายวิจัยภูมิภาค : ภาคใต้, การบรรยาย เรื่อง “การแปรรูปเนื้อโคสู่การเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อบ้านนิบง” โดย นายอับดุลคอเด เจ๊ะดือราแม ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อบ้านนิบง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา, การบรรยาย เรื่อง “การแปรรูปเนื้อโควากิวเป็นอาหารพื้นบ้าน” โดย ผอ.ประกายแก้ว ศุภอักษร ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา และ อ.กฤษณพร ตุฉะโส แห่งวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา จังหวัดยะลา, การบรรยาย เรื่อง “บทบาทของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) ในการส่งเสริมกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ นทพ.นราธิวาส” และการจัดตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อ นทพ.นราธิวาส โดย พ.จ.อ.สมนึก ตุนาคุน ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อ นทพ.นราธิวาส จำกัด และการบรรยาย เรื่อง “การแปรรูปและการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ” โดย พ.จ.อ.ฮาฟิส อาลี เลขาธิการกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อช่องเขต อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

ทั้งนี้ ในรายการอาหารมื้อต่าง ๆ คณะนักวิจัยมีการนำเนื้อโควากิวซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวนำมาประกอบอาหาร อาทิ เนื้อวากิวกอและ, เนื้อวากิวผัดพริกไทดำ, ซุปเนื้อวากิว, แคบวัว, เนื้อวากิวสะเต๊ะ, แกงเนื้อวากิวร็องแง็ง และเนื้อวากิวย่าง