วช. หนุนนักวิจัย มก. เร่งศึกษาคาดการณ์ปริมาณน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ เตรียมรับมืออุทกภัย

0
901

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนให้ ผศ.ดร.จุติเทพ วงษ์เพชร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งดำเนินการวิจัยคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 2 สัปดาห์ รับมืออุทกภัย จากเหตุการณ์หลังปริมาณฝนสะสมทำให้ในช่วงแรกของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง และในช่วงหลังของเดือนตุลาคม เกิดอุทกภัยจากปริมาณฝนร่วมกับน้ำล้นตลิ่งตามมา ในพื้นที่จังหวัดภาคกลางตอนกลาง และตอนล่าง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยปี 65 ที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและบริเวณภาคกลางส่งผลให้ในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งสถานการณ์ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน ยังคงต้องเฝ้าระวังและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ปัจจัยสำคัญที่ถูกกล่าวถึงสำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤติ คือ ข้อมูลปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่า เพราะถ้าเราสามารถรู้ปริมาณน้ำท่าหรือปริมาณน้ำในแม่น้ำล่วงหน้าได้ จะทำให้เราสามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดปัญหาจากน้ำ ได้แก่ น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำในอนาคตได้ ดังนั้น ข้อมูลนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแผนบริหารจัดการน้ำและกำหนดแนวทางในการระบายน้ำ ภายใต้โครงการวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำได้มีชุดโครงการวิจัย CO-RUN สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำการศึกษาทั้งทางด้านการพยากรณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 14 วัน ล่วงหน้า 3 เดือน โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าโดยการประยุกต์ใช้การพยากรณ์ฝนดังกล่าวกับแบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า DWCM-AgWU ดำเนินการโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งปริมาณน้ำท่าคาดการณ์ที่จุดต่างๆ สามารถเป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับการวางแผนบริหารจัดการน้ำและกำหนดแนวทางในการระบายน้ำในช่วงวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลานี้

ผศ.ดร.จุติเทพ วงษ์เพชร เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและบริเวณภาคกลาง ในปัจจุบันโดยได้รับการสนับสนุนจาก วช. จากงบประมาณงบการบริหารทุนโครงการวิจัย Co-Run Co-Run ในแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการจัดการน้ำ ปีที่ 2 ที่มี รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์เป็นประธานแผนงานฯ เริ่มตั้งแต่งานวิจัยการคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 2 สัปดาห์ และ 3 เดือน เพื่อนำไปสู่แบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่า โดยประยุกต์ใช้การพยากรณ์ฝนดังกล่าวกับแบบจำลองน้ำฝน-น้ำท่า DWCM-AgWU เพื่อเป็นข้อมูลที่สนับสนุนการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตอุทกภัยที่เกิดขึ้น และช่วยในการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่ารายวันล่วงหน้า 7 วัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ เวลานี้

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าล่วงหน้า 7 วัน ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผลปรากฏว่า ข้อมูลน้ำฝนที่พยากรณ์ภายใต้แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ มีผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำท่าตรวจวัด ปริมาณฝนปีนี้ และน้ำท่าเฉลี่ยน้อยกว่าปี 2554 ปริมาณน้ำท่าที่ไหลสู่เขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับปริมาณน้ำท่าที่สถานีตรวจวัดน้ำท่า C.2 (นครสวรรค์) แต่ที่อยุธยา(C29A) ปริมาณน้ำท่ายังสูงและคงตัว ในเจ็ดวันข้างหน้า ซึ่งการคาดการณ์นี้สามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์ปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตาม “เพื่อความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล จำเป็นต้องมีการอัพเดตข้อมูลทุกวันเนื่องจากช่วงเวลานี้ อาจมีความแปรปรวนของปริมาณฝน ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำท่าที่ค่อนข้างมาก” ผศ.ดร.จุติเทพฯ กล่าวย้ำ