วช. หนุนนักวิจัยจุฬาฯ คิดค้นนวัตกรรมยางพาราผงสู่ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพรับแรงเสียดทานและลดอัตราการสึกหรอ

0
994

ยางพารานับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย นิยมปลูกกันมากในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ปัจจุบันมีการนำไปปลูกในจังหวัดทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อนำไปแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อการจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะประสบปัญหาความผันผวนเรื่องราคาของยางพารา กระทั่งมีการคิดค้นนวัตกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากยางพาราสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงนวัตกรรมยางพาราผงที่นำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนผ้าเบรกรถยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นนวัตกรรมจากทีมวิจัยจาก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นองค์กรสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง สร้างองค์ความรู้จากการวิจัยและสามารถนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เสริมสร้างกระบวนการผลิตอย่างครบวงจรโดยอาศัยเทคโนโลยี หนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาทิ พืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา ด้วยคุณสมบัติความเหนียว ยืดหยุ่น แข็งแรงคงทนต่อทุกสภาวะ นำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างงานวิจัยพัฒนายางพาราผงสำหรับใช้เป็นสารตัวเติมในการทำผ้าเบรกรถยนต์ ที่ทาง วช. ให้การสนับสนุนให้นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการเป็นผลสำเร็จและนำใช้ประโยชน์ได้จริง

ศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ริมดุสิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ และบริษัท SCG โดยการสนับสนุนจาก วช. ในการพัฒนาอนุภาคยางพาราผงละเอียดยิ่งยวด ด้วยการกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชั่นสไตรีนอะคริโลไนไตล์ลงบนน้ำยางธรรมชาติผ่านกระบวนการอิมัลชั่นพอลิเมอร์ไรเซชั่น และนำไปผ่านกระบวนการเชื่อมขวางด้วยลำอิเล็กตรอน เพื่อผลิตเป็นอนุภาคยางพาราผงธรรมชาติละเอียดยิ่งยวดด้วยกระบวนการอบแห้งและพ่นฝอย โดยในปฏิกิริยากราฟต์โคพอลิเมอร์ไรเซชั่นด้วยสไตรีนและอะคริโลไนไตรล์สูงอยู่ที่ 71 % และมีประสิทธิภาพในการทำกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชั่นสูงถึง 63% ด้วยอนุภาคยางพาราผงละเอียดยิ่งยวดมีลักษณะไม่เหนียวติดกันหรือเกาะกลุ่ม สามารถปรับสภาพขั้วบนพื้นผิวให้เหมาะสมกับการนำไปผสมกับวัสดุอื่น และมีขนาดโดยเฉลี่ย 3.56 um รวมถึงมีคุณสมบัติทางความร้อนสูง ซึ่งเหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารตัวเติมในวัสดุเสียดทานชนิดพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทที่ จากการประเมินสมบัติทางไทรโบโลยีพบว่าชิ้นงานมีค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานและอัตราการสึกหรอ อยู่ในช่วงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผ้าเบรกสำหรับยานยนต์ มาตรฐานเลขที่ มอก. 97-2557 กำหนด ทดแทนยางสังเคราะห์ได้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติ

สำหรับต้นทุนการผลิตอนุภาคยางพาราขนาดละเอียดคิดเป็น 140 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิตวัสดุเสียดทานชนิดพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทที่มีการเติมอนุภาคยางผงละเอียดยิ่งยวดที่ถูกปรับปรุงคุณสมบัติด้วยกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชั่นด้วยสไตรีนและอะคริโลไนไตรส์ คิดเป็น 60 – 75 ต่อชิ้น จากองค์ความรู้ของนวัตกรรมผ้าเบรกจากยางพาราผงนี้ จะมีการขยายผลพัฒนาต่อยอดเสริมศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงเป็นการช่วยส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้ได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์แปรรูปนี้มากยิ่งขึ้น