วช. หนุนงานวิจัยสารสกัดสมุนไพรต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

0
936

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็ยังคงมาตรการตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยังมีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องที่ยังต้องเข้ารับการรักษาและรับยาตามอาการ ขณะเดียวกันมีงานวิจัยทางการแพทย์ในการเยียวยาการรักษาโรคโควิด-19อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนรวมไปถึงงานวิจัยสารสกัดสมุนไพรออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 และศึกษากลไกการออกฤทธิ์ด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนโดยทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์คิดค้นต่าง ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์กับประชาชนในเชิงธุรกิจ รวมถึงการเสริมศักยภาพในภาคการผลิตต่าง ๆ การดูแลด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์โควิด-19ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนต้องพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งยา เวชภัณฑ์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือกสมุนไพร ควบคู่ในการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์จากโรคติดต่อ ทาง วช. ก็ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาสกัดรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นทดลองในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ด้านสรรพคุณทางยา

ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิทยาศาสตร์ระบบลำแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่างานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช.ในครั้งนี้ได้ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ในการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดสมุนไพร จำนวน 8 ชนิด ในการต้านเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่คัดเลือกมาจากผลการวิจัยเบื้องต้น ศึกษาสมุนไพรจำนวน 23 ชนิด พบ 8 ชนิดดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการต้าน การเพิ่มจำนวนของไวรัสโควิด-19 ได้สูงกว่าร้อยละ 70 ที่เวลาทดสอบการสัมผัสเชื้อไวรัสเพียง 5 นาที ซึ่งงานวิจัยในครั้งนี้เป็นงานวิจัยต่อเนื่องเพื่อเลือกสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างน้อย 2 ชนิด มาศึกษาเชิงลึก เพื่อให้ทราบว่าองค์ประกอบทางเคมีว่าสารกลุ่มใดที่มีอยู่ในสมุนไพรนั้นมีฤทธิ์ทางยา

ขณะเดียวกันเพื่อให้การใช้สารสกัดสมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมวิจัยจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป โดยศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพร (Crude extract)กับทั้งไวรัสโดยตรง และศึกษาในเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสโดยจะติดตามการเปลี่ยนระดับสารชีวโมเลกุลภายในเซลล์ด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (Synchrotron FTIR Microspectroscopy) ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีโมเลกุลในระดับเซลล์ นอกจากนั้นจะทำการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีโอมิกส์ (โปรติโอมิกส์และเมตาโบโลมิกส์) โดยใช้เครื่อง nanoLC-MSMS และ LC-HRMS/MS เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนและสารโมเลกุลขนาดเล็กภายในเซลล์ที่ติดเชื้อและได้รับสมุนไพรที่คัดเลือก และศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายต่อไป

อย่างไรก็ตามกระบวนการวิจัยขณะนี้ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ แต่เชื่อว่าหากมีการทดลองอย่างต่อเนื่องจนได้ผลสัมฤทธิ์ในการรักษา จะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนในการต้องต่อสู้ภัยคุกคามจากโรคโควิด-19 เพราะมีการกลายพันธุ์และยังมีการแพร่เชื้ออยู่