วช. หนุนงานวิจัยพัฒนาสุขภาพแนวใหม่สาหร่ายอาร์โธรสไปรา พลาเทนซิส ตัวช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อภายหลังการออกกำลังกายไม่ให้บีบตัวผิดปกติจนอ่อนแรง

0
469

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กะทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้จุดประกายเมืองไทยให้เกิดผลงานวิจัยดี ๆ จากทีมงานนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อขยายผลสู่การต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เหมือนกับงานวิจัยการพัฒนาสุขภาพแนวใหม่จากสาหร่ายอาร์โธรสไปรา พลาเทนซิส” (โครงการต่อเนื่อง) ของ ดร.สราวุธ สัตยากวี แห่ง มหาวิทยาลัยนเรศวร จนก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อที่มีการเสียหายจากการเกิดอนุมูลอิสระ หรือ ROS (reactive oxygen species) หลังจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อภายหลังการออกกำลังกายแล้ว เพื่อช่วยไม่นำไปสู่การบีบตัวแบบผิดปกติของกล้ามเนื้อจนอาจเกิดความเสียหาย และส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อยล้าได้

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่าน วช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้การสนับสนุนเรื่องระบบสาธารณสุขตลอดมา วช. ต้องการให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสุขภาพแข็งแรงขึ้น จึงได้สนับสนุนงานวิจัย “การพัฒนาสุขภาพแนวใหม่จากสาหร่ายอาร์โธรสไปรา พลาเทนซิส” (โครงการต่อเนื่อง) ของ ดร.สราวุธ สัตยากวี แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้มีต่อยอดงานวิจัย ไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบสำคัญ คือ สารต้านอนุมูลอิสระจากสาหร่ายอาร์โธรสไปรา พลาเทนซิส

ดร.สราวุธ สัตยากวี หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึง ผลงานวิจัยดังกล่าวว่า เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ สารต้านอนุมูลอิสระจากสาหร่ายอาร์โธรสไปรา พลาเทนซิส เพราะที่ผ่านมา แม้การออกกำลังกายจะมีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่ทว่าการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายนั้นก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระ หรือ ROS (reactive oxygen species) จึงนำไปสู่การบีบตัวแบบผิดปกติของกล้ามเนื้อจนอาจเกิดความเสียหาย ผลที่ตามมาอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อยล้า และอาจส่งผลเสียต่อเนื่องไปสู่เนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องได้ ทางคณะผู้วิจัยจึงได้มีการพัฒนาสารต้านอนุมูลอิสระจากสาหร่ายอาร์โธรสไปรา พลาเทนซิส ซึ่งมีอนุภาคที่เล็กและได้พิสูจน์ในระดับเซลล์ (in vitro) แล้วว่าสามารถฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อที่มีการเสียหายหลังจากได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเมื่อตอนทำโครงการวิจัยที่ผ่านมา
โครงการวิจัยต้องการนำสารสำคัญที่ผลิตขึ้นมาพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องดื่มฟื้นฟูร่างกาย เนื่องจากได้มีการดำเนินงานทดสอบประสิทธิภาพของการฟื้นฟูกล้ามเนื้อในระดับสัตว์ทดลองเพื่อหาข้อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มหนูทดลองที่ไม่ผ่านการออกกำลังกาย และหนูทดลองที่ผ่านการออกกำลังกาย ปรากฏว่าหนูทดลองในกลุ่มออกกำลังกายที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบสารต้านอนุมูลอิสระอนุภาคเล็กจากสาหร่ายอาร์โธรสไปรา พลาเทนซิส ติดต่อกัน มีความแข็งแกร่ง (stamina) มากกว่าหนูทดลองในกลุ่มเดียวกันที่ไม่ได้รับเครื่องดื่มฯ อย่างเด่นชัด ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ขณะที่เครื่องดื่มฯ ส่งผลให้หนูทดลองในกลุ่มไม่ออกกำลังกายแข็งแรงขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ปริมาณสารอนุมูลอิสระในกระแสเลือดของหนูทดลองที่ได้รับเครื่องดื่มฯ ต่ำกว่ากลุ่มหนูที่ไม่ได้รับเครื่องดื่มฯ ดังกล่าว

เมื่อศึกษาสารบ่งชี้ความเสียหายของกล้ามเนื้อจากกระแสเลือดของหนูทดลองพบว่า ปริมาณสารบ่งชี้ความเสียหายของกล้ามเนื้อในหนูทดลองที่ผ่านการออกกำลังกายแต่ไม่ได้รับเครื่องดื่มฯ อยู่ในระดับสูงกว่าหนูทดลองที่ผ่านการออกกำลังกายและได้รับเครื่องดื่มฯ ติดต่อกัน เช่นเดียวกับระดับสารบ่งชี้ความเสียหายของกล้ามเนื้อลดลงในหนูทดลองที่ไม่ผ่านการออกกำลังกายแต่ได้รับเครื่องดื่มฯ เมื่อเทียบกับหนูทดลองที่ไม่ผ่านการออกกำลังกายและไม่ได้รับเครื่องดื่มฯ ประกอบกับได้ศึกษาการสลายตัวของกล้ามเนื้อในระดับการแสดงออกของยีนพบว่า หนูทดลองที่ผ่านการออกกำลังกายแต่ไม่ได้รับเครื่องดื่มฯ มีระดับการแสดงออกของยีนที่บ่งชี้การสลายตัวของกล้ามเนื้อสูงกว่าหนูทดลองที่ผ่านการออกกำลังกายและได้รับเครื่องดื่มฯ แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ หนูทดลองที่ไม่ผ่านการออกกำลังกายและไม่ได้รับเครื่องดื่มฯ มีการแสดงออกของยีนที่บ่งชี้การสลายตัวของกล้ามเนื้อในระดับสูงมาก เปรียบเทียบกับหนูทดลองที่ไม่ผ่านการออกกำลังกายแต่ได้รับเครื่องดื่มฯ ที่มีระดับการแสดงออกของยีนที่บ่งชี้การสลายตัวของกล้ามเนื้อต่ำกว่าอย่างเด่นชัด นอกจากนี้การได้รับเครื่องดื่มฯ มีส่วนช่วยเพิ่มระดับของเอนไซม์ที่มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระในหนูทดลองทั้ง 2 กลุ่ม

จากความสำเร็จของโครงการวิจัย ได้นำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เกิดจากนักวิจัย โดยนักวิจัยได้มีการจัดตั้งบริษัทเพื่อนำผลงานวิจัยที่ได้มาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในด้านการสื่อสาร ปริมาณที่เหมาะสม และบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มีความใหม่และการรับรู้ถึงคุณประโยชน์อยู่ในวงจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การตลาดอย่างรอบคอบ พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้ดำเนินการศึกษาคุณสมบัติ และประสิทธิภาพของสารที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมคุณประโยชน์ที่จะได้รับของแต่ละช่วงวัย อีกต่อไป