วันที่ 30 มีนาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เปิดศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมโดรนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว ในสถานศึกษาภาคใต้ ณ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประธานในพิธี และ นายกิตติ กิตติธรกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ

พร้อมนี้ นายวันชัย พันเรือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ กล่าวขอบคุณ, นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งศูนย์ฯ และดร.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกระบี่ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เข้าร่วมในพิธี ณ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.กระบี่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ อว. ได้สนับสนุนโครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมโดรนต้นแบบในสถานศึกษาภาคใต้“ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศโดยใช้โดรนเป็นเทคโนโลยีในการประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความสามารถด้านเทคโนโลยีผ่านการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงอีกด้วย
นายกิตติ กิตติธรกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้จังหวัดกระบี่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านการยกระดับการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและยั่งยืน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว รวมทั้งช่วยสร้างอาชีพใหม่ให้แก่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมโดรนต้นแบบที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพการใช้เทคโนโลยีโดรนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม และยังมีสถานศึกษาและชุมชนที่ให้ความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ด้านอากาศยานโดรน เช่น โดรนสำหรับการถ่ายภาพมุมสูง, ระบบ Flight Simulator สำหรับการจำลองการบิน รวมถึงการจัดตั้งหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับ เพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นอกจากนี้ วช.ได้สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจในเทคโนโลยีโดรนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมอบให้สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองฯ จัดอบรมและสร้างการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติในหลายหัวข้อ อาทิ การเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพด้วยโดรน/มุมกล้องแบบต่าง ๆ , การตัดต่อวีดีโอประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว รวมถึงการจัดประกวดวิดีโอประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้โดรนในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ