วช. ลงพื้นที่เกาะสีชัง ฟื้นระบบนิเวศทะเลไทย ด้วยงานวิจัย “เทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการัง” แก้ปัญหาปะการังสูญพันธุ์

0
666

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ประกอบด้วย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ และประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (อจชล.) ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ ผู้ตรวจสอบทางวิชาการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดร.ศิราวุธ กลิ่นบุหงา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่เกาะสีชัง เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงาน โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการัง: เทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กการเชื่อมโคโลนีปะการัง และการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการัง” โดยมี รศ. ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน หัวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้กลุ่มเรื่อง ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะนักวิจัย ให้การต้อนรับ ณ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการ และประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (อจชล.) ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวว่า ให้คำนึงถึงหลักความปลอดภัยเป็นหลักในเรื่องของวิธีการดำเนินการวิธีเพาะเลี้ยงปะการัง และการกระจายความรู้เทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงปะการังสู่ชุมชน ซึ่งผลงานวิจัยทางวิชาการจะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเชิงนโยบาย และการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

รศ.ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน หัวหน้าโครงการวิจัย จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า นวัตกรรมจากโครงการ และการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการังนั้น เป็นกระบวนการฟื้นฟูแนวปะการังโดยมนุษย์เข้าไปดำเนินการ เพื่อช่วยให้ระบบนิเวศฟื้นคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ เช่น การย้ายปลูกปะการังโดยตรง การทำสวนปะการัง

จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังจึงเป็นประเด็นสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการใช้เทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก (coral micro-fragmentation) ที่ช่วยทำให้ชิ้นส่วนปะการังมีอัตราการเจริญเติบโตสูง เมื่อนำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กที่เจริญเติบโตแล้วระดับหนึ่งมาเชื่อมต่อกัน (coral colony fusion) จะทำให้ได้โคโลนีปะการังขนาดใหญ่ที่สามารถจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้เร็วขึ้น และมุ่งเน้นการคัดเลือกปะการังพ่อแม่พันธุ์ เพื่อมาทำเป็นชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก โดยมีลักษณะทางพันธุกรรมของปะการังที่มีความทนทานต่อความเครียดสูง และให้ความสำคัญกับการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการังในพื้นที่ฟื้นฟูปะการังให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการังในธรรมชาติ และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นฟูแนวปะการังที่กำลังเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะภาวะคุกคามทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งโครงการวิจัยดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดย นวัตกรรมการฟื้นฟูแนวปะการัง ด้วยเทคนิคการยึดติดชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก ในการนำปะการังพ่อแม่พันธุ์ที่เตรียมไว้สำหรับการทำในส่วนปะการังมาเพาะเลี้ยง ซึ่งการย้ายปลูกชิ้นส่วนปะการังในประเทศไทยได้ดำเนินการไปแล้วในหลายพื้นที่ จากผลการวิจัยพบว่า แนวปะการังบริเวณเกาะค้างคาวด้านทิศเหนือ เกาะขามน้อยด้านทิศใต้ และอ่าวนวล เกาะล้าน มีความเหมาะสมเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ปะการัง พื้นที่จัดทำแปลงอนุบาลในแนวปะการัง และพื้นที่ฟื้นฟูแนวปะการังที่เหมาะสม เนื่องจากพบปะการังพ่อแม่พันธุ์ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites abdita) ปะการังกาแล็กซี่ (Galaxea fascicularis) ปะการังดาวช่องเหลี่ยม (Leptastrea purpurea) และโคโลนีพ่อแม่พันธุ์มีความเหมาะสมสำหรับการนำไปทำเป็นชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก ในการฟื้นฟูแนวปะการังให้ฟื้นคืนสู่ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ จากการค้นพบดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ระบบนิเวศแนวปะการังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมประมง อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการฟื้นฟูปะการังตามแนวชายฝั่งและอนุรักษ์ปะการังไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารสัตว์​ทะเล เกาะสีชัง โดยชุมชน เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน ในพระราชูปถัมภ์ฯ เพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน โครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการัง: เทคนิคการทำชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กการเชื่อมโคโลนีปะการังและการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการัง”

ซึ่งผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนา ไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเล ผ่านงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะนำไปสู่การอนุรักษ์และการฟื้นคืนระบบนิเวศทะเลไทย สู่การอนุรักษ์ปะการังที่ยั่งยืนต่อไป